
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ศูนย์ความเชี่ยวชาญทารกแรกเกิดทำหน้าที่ดูแลทารกแรกเกิดที่คลอดจากโรงพยาบาลราชวิถี รวมทั้งรับส่งต่อผู้ป่วยทารกแรกเกิดอาการหนัก และมีปัญหายุ่งยากซับซ้อนจากทั่วประเทศ ที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการตรวจวินิจฉัยและรักษาร่วมด้วย
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาชินี เปิดเผยว่า หน่วยทารกแรกเกิด สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ทำหน้าที่ดูแลทารกแรกเกิดที่คลอดจากโรงพยาบาลราชวิถี รวมทั้งรับส่งต่อผู้ป่วยทารกแรกเกิดอาการหนัก และมีปัญหายุ่งยากซับซ้อนจากทั่วประเทศ ที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรคพิการแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart disease) ทารกแรกเกิดก่อนกำหนดน้ำหนักน้อย (Prematurity) ภาวะความดันในปอดสูงในทารกแรกเกิด (Persistent pulmonary hypertension in the newborn) ภาวะสมองขาดออกซิเจนปริกำเนิด (Hypoxic ischemic encephalopathy) ภาวะติดเชื้อในทารกแรกเกิด (Neonatal sepsis) โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก (Inborn error of metabolisms) และอื่นๆ

สรุปข่าว
สถาบันสุขภาพเด็กฯ เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของกรมการแพทย์ ที่เริ่มทำการรักษาทารกที่มีภาวะสมองขาดออกซิเจนด้วยการลดอุณหภูมิตั้งแต่ประมาณปี 2559 โดยในช่วงแรกยังเป็นการลดอุณหภูมิโดยใช้แผ่นเจลประคบเย็น ซึ่งการควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ทำได้ค่อนข้างยากต้องมีการปรับอุณหภูมิอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ต่อมาจึงได้มีการใช้เครื่องลดอุณหภูมิแบบปรับอุณหภูมิอัตโนมัติเมื่อปี 2560 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้การรักษาโดยวิธีลดอุณหภูมิทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ โอกาสที่อุณหภูมิออกนอกเกณฑ์การรักษาน้อย มีทารกที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีลดอุณหภูมิในสถาบันประมาณ 10-20 ราย/ปี ซึ่งเป็นทารกทั้งที่คลอดในโรงพยาบาลราชวิถี และรับส่งต่อมาจากโรงพยาบาลอื่นทั้งรัฐบาลและเอกชน
นายแพทย์เปรมศักดิ์ เหล่าอยู่คง กุมารแพทย์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคที่เกิดขึ้นในทารกแรกเกิดบางรายมีความรุนแรง จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการตรวจวินิจฉัยและรักษาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรักษาทารกแรกเกิดที่มีภาวะความดันในปอดสูงด้วยเครื่องช่วยหายใจชนิดความถี่สูง (High frequency oscillatory ventilation) และก๊าซไนตริกออกไซด์ (inhaled nitric oxide) และการรักษาทารกที่มีภาวะสมองขาดออกซิเจน โดยการใช้เครื่องลดอุณหภูมิ (Therapeutic hypothermia) เพื่อให้อุณหภูมิแกนกลางลดลง จุดประสงค์เพื่อลดภาวะสมองถูกทำลายของทารก ร่วมกับใช้เครื่องติดตามการทำงานของสมองทารกโดยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองแบบวิธีวิเคราะห์ปริมาณความสูง (Amplitude-integrated EEG : aEEG) ร่วมกับการรักษาประคับประคอง (supportive treatment) ในช่วงวิกฤต ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่ทำได้แค่การรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น ในทารกที่มีภาวะขาดออกซิเจนปริกำเนิด จะส่งผลให้เกิดผลกระทบกับทุกๆอวัยวะในร่างกาย โดยเฉพาะสมองซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญ โดยภาวะสมองขาดออกซิเจน จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตและความพิการในทารก และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกในระยะยาวด้วย การช่วยกู้ชีพทารกแรกเกิด (Neonatal Resuscitation) ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดการขาดออกซิเจนปริกำเนิด ความพิการและการเสียชีวิตของทารกลงได้โดยการช่วยกู้ชีพจะมีประสิทธิภาพได้นั้นต้องอาศัยบุคลากรที่เพียงพอ และได้รับการเรียนรู้ร่วมกับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ จนมีความชำนาญในการกู้ชีพ
นอกจากที่เครื่องลดอุณหภูมิและเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองแบบวิธีวิเคราะห์ปริมาณความสูงจะมีราคาสูงแล้ว การดูแลทารกที่มีภาวะสมองขาดออกซิเจนและใช้เครื่องลดอุณหภูมินั้นยังจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่ได้รับการอบรมและฝึกฝนจนมีความรู้ความชำนาญ ไม่ว่าจะเป็น กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านทารกแรกเกิด พยาบาลเฉพาะทางด้านการดูแลทารกแรกเกิดวิกฤต และจำเป็นต้องใช้การดูแลโดยสหวิชาชีพร่วมด้วย เช่น กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาท กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรม พยาบาลเฉพาะทางทารกแรกเกิด นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด เภสัชกร และอื่นๆ ที่มีความสำคัญในการดูแลทารกกลุ่มนี้ร่วมกัน
ที่มาข้อมูล : สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
ที่มารูปภาพ : สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี