
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงบุหรี่ไฟฟ้าว่า ในปัจจุบัน ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าใช้กลยุทธ์ทางการตลาด พุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนเพื่อให้เป็นกลุ่มลูกค้ารายใหม่ โดยสร้างการรับรู้ว่า สูบแล้วเท่ เป็นเทรนด์ใหม่ ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้น่าดึงดูด มีรูปแบบคล้ายขนม ของเล่น อุปกรณ์การเรียน แต่งกลิ่นและรสชาติให้น่าลิ้มลอง หรือเลียนแบบของเล่นยอดฮิต ทำให้ดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นได้ง่ายตบตาผู้ปกครอง และครูได้อย่างแนบเนียน
ซึ่งภัยจากบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดอันตรายมากมาย หนึ่งในนั้น ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ หรือ EVALI (E-cigarette or Vaping product use Associated Lung Injury) หรือโรคปอดอักเสบรุนแรงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้มีอาการแบบเฉียบพลัน ได้แก่ ไข้หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ปอดเป็นฝ้า หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อเชิญชวนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ซึ่ง 5 ความจริงของบุหรี่ไฟฟ้า มีดังนี้

สรุปข่าว
1) บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไม่แพ้บุหรี่ธรรมดา บุหรี่ไฟฟ้ามีโลหะหนัก สารก่อมะเร็ง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทำให้เป็นโรคปอดบวม โรคหลอดเลือดและหัวใจ
2) บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่มวนได้ บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินระดับสูง ต่างจากยาเลิกบุหรี่ที่ทางการแพทย์ใช้งานมีนิโคตินระดับต่ำ
3) บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวนำสู่การสูบบุหรี่มวน งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า เด็กที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มพัฒนาไปสูบบุหรี่มวนมากกว่าเด็กที่ไม่สูบ 2-4 เท่า
4) บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อร่างกายและทางเดินหายใจ บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินเท่ากับการสูบบุหรี่ 20-50 มวน และสามารถเสพยาเสพติดง่ายกว่าบุหรี่ทั่วไปถึง 10 เท่า นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารปรุงแต่งกลิ่น รส ที่แปลกปลอมต่อร่างกายมากกว่า 16,000 ชนิด เช่น ฟอร์มาลีน เบนซิน ยาฆ่าแมลง ทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดลมเส้นเลือดฝอยอักเสบ
5) เซลล์มะเร็งเติบโต นิโคตินเป็นตัวกระตุ้นและสร้างเส้นเลือดให้ไปหล่อเลี้ยงเนื้องอก ทำให้เนื้อมะเร็งโตเร็วขึ้น
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้า พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูควรให้ความใส่ใจและหมั่นพูดคุยกับบุตรหลานถึงโทษ พิษภัย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้า ให้คำแนะนำเมื่อเกิดปัญหา หากต้องการเลิกบุหรี่ สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนเลิกบุหรี่ โทร.1600 หากพบการขายบุหรี่ไฟฟ้า ให้แจ้งเบาะแสไปที่ สายด่วน สคบ. 1166 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร. 0 2590 3850 และสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ที่มาข้อมูล : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ที่มารูปภาพ : Envato