โรคหลอดเลือดสมอง มีอาการอย่างไร? เปิดวิธีป้องกันและการรักษา

โรคหลอดเลือดสมอง มีอาการอย่างไร? เปิดวิธีป้องกันและการรักษา

สรุปข่าว

"โรคหลอดเลือดสมอง" หรือ อัมพาตเฉียบพลัน  มีอาการอย่างไร? เปิดวิธีป้องกันและการรักษา

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่ง อ่อนแอ เคลื่อนไหวไม่ได้หรือเคลื่อนไหวลำบากอย่างทันทีทันใด เป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการเกิดคือโรคหลอดเลือดสมองตีบตันและโรคหลอดเลือดสมองแตก

องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้ วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันอัมพาตโลก (World Stroke Day) โดยได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ในปี 2562 คือ Don’ t Be the One สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดคำขวัญในการณรงค์วันอัมพาตโลกปี 2562 “อย่าให้ อัมพฤกษ์ อัมพาต…เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคุณ” เพื่อเน้นสร้างการรับรู้ข้อมูล สร้างกระแส เพื่อให้เกิดความตระหนักในการป้องกันและการจัดการปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในระดับบุคคล



โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ แตกหรืออุดตัน มีอาการอย่างไร?

-มีอาการอ่อนแรงที่ใบหน้า เช่น ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด หลับตาไม่สนิท หรือชาที่ใบหน้า


-มีอาการแขนขาอ่อนแรงอย่างเฉียบพลันโดยมักเป็นครึ่งซีก


-มีอาการแขนหรือขาชาอย่างเฉียบพลัน มักจะเป็นซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย


-พูดไม่ออก หรือฟังไม่เข้าใจ รวมทั้งพูดลำบาก หรือพูดไม่ชัด


-มองเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็น


-มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงเฉียบพลัน โดยที่ไม่มีสาเหตุ


-มีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัวอย่างรวดเร็ว เช่น ซึมลง เรียกไม่รู้ตัว


-มีอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน


-มีอาการเดินเซ เดินลำบาก การทรงตัวไม่ดีอย่างเฉียบพลัน



การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ แตกหรืออุดตัน

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย รองจากโรคมะเร็ง นอกจากการตรวจสุขภาพเป็นประจำแล้ว การดูแลสุขอนามันของตนเองก็สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ แตกหรืออุดตันได้

-รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ หรืออาหารที่มีเส้นใยมาก


-ลดอาหารรสเค็ม อาหารคอเลสเตอรอลสูง อาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง


-ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์


-กรณีมีความดันโลหิตสูง ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นระยะและรับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ


-หยุดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำเสมอ


การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ แตกหรืออุดตัน

การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ โดยแบ่งตามลักษณะของโรค ดังนี้

1. หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) สามารถรักษาได้ 2 วิธี ได้แก่

-การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด (rtPA) จะใช้ในกรณีผู้ป่วยมาพบแพทย์ภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงนับจากมีอาการ และพิจารณาความเหมาะสมของร่างกายผู้ป่วยแล้ว โดยแพทย์จะทำการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ เพื่อละลายลิ่มเลือดที่ปิดกั้นหลอดเลือดอยู่ออกเพื่อช่วยให้เลือดกลับไปเลี้ยงสมองอีกครั้ง


-การใส่สายสวนลากลิ่มเลือด (Clot Retrieval) หากเส้นเลือดที่ตีบเป็นเส้นเลือดใหญ่ โดยการใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดงใหญ่พร้อมขดลวดที่ขาหนีบไปจนถึงจุดที่เกิดการอุดตัน แล้วดึงเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมองเพื่อเปิดรูของหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ช่วยให้เลือดกลับไปเลี้ยงสมองอีกครั้ง

2. หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) จะต้องการควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต โดยให้ยาลดความดันโลหิตเพื่อป้องกันการแตกซ้ำ พร้อมทั้งหาสาเหตุของเส้นเลือดในสมองแตก ในกรณีที่เลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมอง โดยการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเลือดที่ออกภายในสมองและขนาดของก้อนเลือด






ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลนครธน / โรงพยาบาลพญาไท / กรมควบคุมโรค

ภาพจาก AFP

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

โรคหลอดเลือดสมอง
อาการเส้นหลอดเลือดสมอง
อาการเส้นเลือดสมองแตก
เส้นเลือดสมองตีบ
หลอดเลือดสมอง
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง