

สรุปข่าว
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไขข้อสงสัย "ดื่มกาแฟดำผสมมะนาว แก้ปวดไมเกรน" ได้จริงหรือ กรมอนามัย ชี้แจงแล้ว
จากกรณีที่มีข้อความชวนเชื่อแนะนำว่า ดื่มกาแฟดำผสมมะนาว แก้ปวดไมเกรน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
และชี้แจงว่าการกินกาแฟดำผสมมะนาวเพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนนั้นไม่เป็นความจริง แม้การดื่มกาแฟ 1 แก้ว อาจช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้ แต่การผสมมะนาวในปริมาณมากอาจจะทำให้กระตุ้นอาการปวดไมเกรนเพิ่มขึ้นได้ในบางคน โดยไมเกรนเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะตัวที่สำคัญ คืออาการปวดศีรษะ โดยมักปวดข้างเดียว หรือเริ่มปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดทั้ง 2 ข้าง แต่ละครั้งที่ปวดมักจะย้ายข้างไปมาหรือย้ายตำแหน่งได้ บางครั้งอาจปวดทั้ง 2 ข้างขึ้นมาพร้อม ๆ กันตั้งแต่แรก โดยผู้ป่วยโรคไมเกรนส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งโอกาสที่ผู้หญิงจะเป็นมีมากกว่าผู้ชาย และมักเป็นในผู้ที่มีความเครียดทางอารมณ์และจิตใจสูง
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่ https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/organization-chart หรือโทร. 02 5904332
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การดื่มกาแฟดำ 1 แก้วอาจช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้ แต่การดื่มกาแฟดำผสมมะนาวไม่ได้มีส่วนช่วยให้อาการปวดไมเกรนดีขึ้น และอาจกระตุ้นอาการปวดเพิ่มขึ้นได้ในบางคน

ขณะที่ โรงพยาบาลวิภาวดี ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับ โรคไมเกรน (Migraine) ไว้ดังนี้
โรคไมเกรน (Migraine) ปวดหัวแบบไหน รักษายังไง
ไมเกรน (migraine) เป็นโรคปวดหัวชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะอาการที่สำคัญ คือ ปวดตุ้บๆ ที่บริเวณขมับข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาการปวดจะเป็นพักๆ เป็นๆ หายๆ ความรุนแรงของอาการปวด มีตั้งแต่ปวดปานกลางจนถึงรุนแรงมาก ระยะเวลาในการปวดแต่ละครั้งส่วนใหญ่ประมาณ 4-7 ชม.อาการปวดจะกำเริบหรือรุนแรงมากขึ้นเมื่อมี ความเครียด อากาศร้อน แสงจ้า หรืออดนอน ขณะปวดไมเกรนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และอาจไวต่อแสงหรือเสียง ดังนั้นผู้ที่เป็นไมเกรนส่วนใหญ่มักอยากอยู่ในห้องมืดและเงียบ เพราะจะทำให้อาการปวดดีขึ้น
ชนิดของไมเกรนที่พบบ่อย
Classic migrain : อาการมักเกิดในช่วงวัยรุ่น เมื่ออายุมากขึ้นอาการปวดศีรษะจะลดลงจนกระทั่งหายขาด แต่ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการนำมาก่อน เช่น เห็นแสงแลบ ตามองไม่เห็น ชาซีกใดซีกหนึ่งเราเรียก classic migrain
Common migrain : อาการแสดงมักเกิดบริเวณหน้าผาก รอบดวงตา ขมับและขากรรไกร ปวดมักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการนำเรียก common migrain ไมเกรนเป็นโรครักษาไม่หายขาดแต่ถ้าเข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำสามารถทำให้ควบคุมโรคได้
สาเหตุของโรค
ไมเกรนเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเส้นเลือด และเส้นประสาทรอบๆสมอง ระบบประสาทผู้ป่วยที่เป็นโรคไมเกรนจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคนี้ ระบบประสาทจะมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดอาการอักเสบดังกล่าวเกิดขึ้น และอาการปวดอย่างรุนแรงตามมา
ปัจจัยกระตุ้นมีดังนี้
-อาหาร คือ ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารที่ใส่ผงชูรสหรือสารถนอมอาหาร สิ่งเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
-การนอนหลับ การนอนหลับมากหรือน้อยเกินไป สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดได้ และยังไปกระตุ้นอาหารปวดกล้ามเนื้อด้วย
-ฮอร์โมน ผู้หญิงจำนวนมากที่เป็นไมเกรน บางคนจะมีอาการปวดไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือนหรือตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก บางคนที่ใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดบางชนิดอาจกระตุ้นให้มีอาการปวดไมเกรนที่รุนแรงหรือระยะเวลาในการปวดนานมากขึ้นได้
-สิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น “อากาศร้อน” หรือ “เย็นมาก ” อยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน หรือได้กลิ่นบางอย่างก็ทำให้ปวดหัว เช่น กลิ่นน้ำหอม ควันบุหรี่ หรือการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ
-ความเครียด ผู้ที่มีความเครียดจะมีอาการปวดไมเกรนได้บ่อยและรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่เครียด
อาการ
แบบแรกอาการปวดตุบ ๆ แถว ๆ ขมับ หรือลึก ๆ อยู่แถวเบ้าตา เหมือนหัวใจเต้น และจะปวดในระดับกลางถึงมาก ซึ่งนี่เป็นลักษณะเด่นของการปวดไมเกรน แต่ถ้าปวดพอรำคาญ ไม่มากนัก โอกาสเป็นไมเกรนจะน้อย
นอกจากนี้ อาการปวดแบบไมเกรนนั้น เมื่อหายปวดจะหายสนิท โดยในช่วงที่ปวดนั้น อาจจะปวดได้นาน 2-3 วันตามทฤษฎี แต่โดยทั่วไป อาจจะปวดแค่ 2-3 ชั่วโมง หรืออาจจะ 4 ชั่วโมง
hecklist อาการไมเกรน
-จะต้องมีอาการปวดศีรษะ อย่างน้อย 5 ครั้ง
-ปวดศีรษะนาน 4-72 ชั่วโมง
-ลักษณะปวดศีรษะต้องประกอบด้วยลักษณะอย่างน้อย 2 ประการ
-ปวดข้างเดียว และมีอาการปวดตุ๊บๆๆ
-ปวดมากจนทำงานประจำไม่ได้
-ขึ้นบันไดหรือเคลื่อนไหวทำให้ปวดมากขึ้น
-ขณะปวดศีรษะจะต้องมีอาการข้างล่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง คลื่นไส้หรืออาเจียน แสงจ้าหรือเสียงดังทำให้ปวดศีรษะ
การรักษา
ไมเกรนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีวิธีการช่วยให้ความถี่และความรุนแรง ของไมเกรนลดน้อยลง โดยใช้ยาเพื่อป้องกันรักษา และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ดูแลสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมอ ปัจจุบันจะมีการฝังเข็มเข้ามาด้วย ซึ่งเป็นที่ยอมรับและในการฝังเข็มนั้นได้มีการระบุว่า เป็นการรักษาไมเกรนได้เช่นกัน
ยาแก้ปวดและป้องกันไมเกรน
ยาแก้ปวดไมเกรน คือ ยาที่ใช้เมื่อมีอาการปวด
ส่วนยาป้องกันไมเกรน ใช้เพื่อทำให้ความถี่และความรุนแรงของการปวดลดลง และจะใช้ในกรณีที่มีอาการปวดบ่อยกว่า 2 ครั้งต่อเดือน
ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้มีมากมาย หลายชนิด การเลือกใช้ยาชนิดใด ควรได้รับคำแนะนำหรือควรปรึกษาแพทย์
ขอบคุณที่มา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม / โรงพยาบาลวิภาวดี
ภาพจาก AFP/รอยเตอร์
ที่มาข้อมูล : -