เปิดภาพดอกไม้ทะเลหลากสีสัน ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

เพจประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยแพร่ภาพความสวยงามของดอกไม้ทะเลในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา โดยระบุว่า “ดอกไม้ทะเล” หรือ “ซีแอนนีโมนี” (Sea Anemone) ไม่ใช่พืชแต่เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวอ่อนนุ่ม อยู่ในกลุ่มเดียวกับ แมงกะพรุน ปะการัง ปะการังอ่อน ทั่วโลกพบมากกว่า 1,000 ชนิด แต่ละชนิดจะมีหนวดที่แตกต่างกันอาศัยอยู่ตามพื้นหินหรือทรายที่มั่นคง มีสีสันสวยงามอยู่ใต้ท้องทะเล 


หากนักดำน้ำพบดอกไม้ทะเลและสัมผัสบริเวณที่มีพิษอาจเกิดอาการผิดปกติเกิดขึ้นในระบบต่างๆของร่างกาย ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับภัยที่อาจเกิดจากความสวยงามของดอกไม้ทะเลที่เป็นสีสีนของท้องทะเล



ดอกไม้ทะเลมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก เนื่องจากดอกไม้ทะเลจะทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยและที่หลบภัยให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ทั้งปลา กุ้ง และปูบางชนิด รวมถึงช่วยควบคุมประชากรสัตว์บางประเภท นอกจากนี้ดอกไม้ทะเลยังมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันกับปลาการ์ตูน ถึงแม้ว่าดอกไม้ทะเลจมีพิษแต่ปลาการ์ตูนสามารถอยู่ร่วมกับหนวดพิษได้โดยไม่ถูกทำร้าย ปลาการ์ตูนยังได้รับการป้องกันภัยจากนักล่า ขณะเดียวกันก็ช่วยทำความสะอาดและป้อนอาหารบางส่วนให้กับดอกไม้ทะเล

เปิดภาพดอกไม้ทะเลหลากสีสัน ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

สรุปข่าว

ดอกไม้ทะเลเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีสีสันสวยงาม อาศัยอยู่ใต้ทะเล พบมากกว่า 1,000 ชนิดทั่วโลก มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็ก และอยู่ร่วมกับปลาการ์ตูนได้ แม้มีพิษ พิษของดอกไม้ทะเลอยู่ที่หนวด ใช้ป้องกันตัวและจับเหยื่อ หากมนุษย์สัมผัส อาจเกิดอาการคัน บวม หรือรุนแรงกว่านั้น ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส และหากโดนพิษ ให้ล้างแผลด้วยน้ำส้มสายชูและรีบนำส่งแพทย์หากอาการรุนแรง

พิษของดอกไม้ทะเล

อาวุธที่สำคัญของดอกไม้ทะเลคือเข็มพิษที่เรียกว่า “นีมาโตสิสท์” (nematocyst) ซึ่งจะอยู่ตามบริเวณหนวดใช้สำหรับป้องกันตัวและจับเหยื่อ เมื่อถูกหรือสัมผัสจะมีอาการเจ็บและปวดในจุดที่สัมผัส พิษของดอกไม้ทะเล ที่มีไว้เพื่อจับสัตว์ทะเลเล็กๆ กินเป็นอาหาร เมื่อปลาเล็กๆ สัมผัสกับพิษที่ปลายหนวดของดอกไม้ทะเลจะทำให้เป็นอัมพาตแล้วก็ตาย แล้วใช้หนวดจับเข้าปาก จึงไม่มีปลาอื่นกล้าว่ายเข้าใกล้ดอกไม้ทะเล หากคนสัมผัสจะทำให้เกิดผื่นแดงและคันบริเวณที่สัมผัส ถ้าอาการรุนแรงมากจะทำให้เกิดอาการบวม แดง มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน


การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

หากโดนเข็มพิษของดอกไม้ทะเล ให้ใช้น้ำส้มสายชูล้างแผล และพยายามล้างเอาเมือก และชิ้นส่วนของหนวดดอกไม้ทะเลออกให้หมด ถ้ามีอาการทรุดลงให้นำส่งแพทย์โดยด่วน การป้องกันการป้องกันที่ดีทีสุด คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดอกไม้ทะเล จะทำให้นักดำน้ำปลอดภัยจากการโดนเข็ม


avatar

วาสนา ชูติสินธุ

แท็กบทความ

ทรัพยากรทางทะเลระบบนิเวศความหลากหลายทางชีวภาพ
ดอกไม้ทะเล
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน