
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (3 เม.ย.) ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน หรือ ศวอบ. รายงานผลการชันสูตรซากเต่าทะเลเกยตื้นที่ถูกพบบริเวณหาดบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 18 ก.ย.67 โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าช่วยเหลือ อนุบาล และฟื้นฟูสุขภาพ จากตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าเป็น “เต่าตนุ” เพศเมีย ขนาดกระดองกว้าง 69 ซม. กระดองยาว 74 ซม. น้ำหนักประมาณ 39.9 กิโลกรัม แต่ท้ายที่สุดไม่สามารถช่วยชีวิตเอาไว้ได้ และล้มตายลงเมื่อไม่นานมานี้
จากการชันสูตรซากพบคราบหนองสะสมภายในช่องท้องและอวัยวะภายใน บ่งชี้ถึงภาวะการติดเชื้อเรื้อรัง นอกจากนี้ยังพบขยะทะเลอัดแน่นในลำไส้ใหญ่ร่วมกับภาวะลำไส้อักเสบ ซึ่งสาเหตุการตายมาจากการป่วยเรื้อรังและภาวะอุดตันของขยะทะเลในทางเดินอาหารจนทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในที่สุด

สรุปข่าว
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ขยะ เศษอวนในทะเล และภัยธรรมชาติ เป็นสาเหตุที่คุกคามเต่าทะเล ซึ่งปัจจุบันประชากรเต่าทะเลมีแนวโน้มลดลงและเสี่ยงสูญพันธุ์ในอนาตคอันใกล้จากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
- ขยะพลาสติกและมลพิษทางทะเล
ขยะพลาสติกเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่คุกคามชีวิตของเต่าทะเล เนื่องจากเต่ามักเข้าใจผิดคิดว่าถุงพลาสติกที่ลอยอยู่ในน้ำเป็นแมงกะพรุน ซึ่งเป็นอาหารหลักของพวกมัน เมื่อเต่ากินขยะพลาสติกเข้าไปก็จะเข้าไปอุดตันระบบทางเดินอาหาร
- อุปกรณ์การทำประมง
ปัจจุบันมีอุปกรณ์การประมงจำนวนมากถูกทิ้งไว้ในทะเล ทั้งอวนและเบ็ดตกปลา ล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายกับเต่าและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในท้องทะเล เต่าที่ติดอวนจะไม่สามารถว่ายขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำได้และจมน้ำตายในที่สุด
- การสูญเสียพื้นที่ในการวางไข่
ปกติเต่าทะเลจะขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดเป็นประจำในทุกปี แต่ปัจจุบันชายหาดส่วนใหญ่ลดลงเนื่องจากการขยายตัวของเมือง รวมทั้งถูกรบกวนจากมนุษย์ทำให้พวกมันไม่มีพื้นที่เงียบสงบพอในการวางไข่ นอกจากนี้แสงไฟจากแหล่งที่สุดอาศัยใกล้ชายหาดยังรบกวนการฟักตัวของลูกเต่า ทำให้ประชากรเต่าลดจำนวนลงอย่างมาก
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ภาวะโลกร้อนส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลและหาดทรายเพิ่มสูงขึ้น มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ส่งผลกับเพศของลูกเต่าให้ฟักตัวออกมาเป็นเพศเมียมากขึ้น กระทบโอกาสขยายพันธุ์ในอนาคต นอกจากนี้ภัยธรรมชาติ อย่างเช่นพายุ และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นยังคุกคามพื้นที่วางไข่ รวมถึงลดโอกาสรอดชีวิตของลูกเต่าทะเลอีกด้วย
- การล่าจากมนุษย์
แม้ว่าเต่าทะเลจะได้รับการคุ้มครอง แต่ก็ยังคงมีการเล่าเต่าทะเลเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ รวมถึงความนิยมในการบริโภคไข่เต่าก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรเต่าลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว
การอนุรักษ์เต่าทะเลจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้พลาสติก สนับสนุนการประมงที่เป็นมิตรกับเต่าทะเล การอนุรักษ์ชายหาดรวมถึงการสร้างจิตสำนึกเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น
ที่มาข้อมูล : ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ที่มารูปภาพ : ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน

วาสนา ชูติสินธุ