
รัฐบาลญี่ปุ่นออกแนวปฏิบัติฉบับใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประชาชนในกรณีที่ "ภูเขาไฟฟูจิ" ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศ เกิดการปะทุขึ้น แนวทางนี้เน้นให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงโตเกียวและพื้นที่ใกล้เคียงอยู่ในที่พักอาศัยเพื่อลดความโกลาหล หากเกิดการปกคลุมของเถ้าถ่านภูเขาไฟ
โดยแบ่งสถานการณ์ออกเป็น 4 ระยะ ตามความรุนแรงของเถ้าถ่าน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้กำหนดสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเป็น 4 ระยะ โดยพิจารณาจากปริมาณเถ้าถ่านที่ตกลงมา
- ระยะที่ 1: มีเถ้าถ่านตกลงมาต่ำกว่า 3 เซนติเมตร
- ระยะที่ 2-3: เถ้าถ่านหนาขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่เกิน 30 เซนติเมตร
- ระยะที่ 4: เถ้าถ่านตกลงมามากกว่า 30 เซนติเมตร ถือเป็นระดับวิกฤติ

สรุปข่าว
หากเถ้าถ่านตกลงมาต่ำกว่า 30 เซนติเมตร ควร “อยู่ในบ้าน” และหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ควรสวมแว่นตาและหน้ากากป้องกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาทางเดินหายใจ และหลีกเลี่ยงการ ขับขี่ยานพาหนะ เนื่องจากเถ้าถ่านอาจบดบังทัศนวิสัยและทำให้ถนนลื่น นอกจากนี้ควรเตรียม สิ่งของจำเป็น เช่น อาหาร น้ำดื่ม และยารักษาโรค ให้เพียงพอสำหรับ 2 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ใน บ้านไม้หรืออาคารที่โครงสร้างไม่แข็งแรง ควรอพยพทันทีหากเถ้าถ่านสะสมหนา 30 เซนติเมตรขึ้นไป เพราะอาจทำให้โครงสร้างอาคารรับน้ำหนักไม่ไหว โดยเฉพาะหากมีฝนตกเพิ่มน้ำหนักให้เถ้าถ่าน
นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกแนวทางอย่างละเอียดเกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติจากภูเขาไฟฟูจิ โดยมีแผนจะส่งมอบข้อมูลนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับกระทรวงและจังหวัด เพื่อวางแผนบรรเทาผลกระทบในอนาคต
สำหรับภูเขาไฟฟูจิ ปะทุครั้งสุดท้ายเมื่อกว่า 300 ปีที่แล้ว ในปี พ.ศ. 2250 เป็นการปะทุที่กินเวลานานถึง 2 สัปดาห์ แม้จะสงบนิ่งมานาน แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าหากเกิดการปะทุในระดับเดียวกันอีกครั้ง เถ้าถ่านอาจปกคลุมหนาถึง 10 เซนติเมตรขึ้นไปในกรุงโตเกียว จังหวัดคานากาวะ และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้าง
แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าภูเขาไฟฟูจิจะปะทุในเร็ว ๆ นี้ แต่สำหรับผู้ที่วางแผนเดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงนี้ ควร ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานทางการของญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด และเตรียมสิ่งของจำเป็น เช่น หน้ากากป้องกันฝุ่นและแว่นตา ไว้เผื่อ นอกจากนี้ ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางและการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ทริปของคุณเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย
แม้ว่าภัยพิบัติจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดการณ์ได้แน่ชัด แต่การเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยให้กับทุกคนได้เป็นอย่างดี

สุนิดา สวัสดิพรพัลลภ