
เพจ Facebook ของ รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตรได้ระบุว่า16 มี.ค. 68 ลานีญาส่งไม้ต่อให้เฟสกลางตั้งแต่ มี.ค. 68 เป็นต้นไป แต่ยังมีพลังทิ้งไว้ โดยปริมาณฝนมีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อยช่วง เม.ย. 68 ฤดูร้อนน่าจะไม่แล้งมาก ขณะที่ พ.ค. 68 ฝนมีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติต่อเนื่องและต้องระวังน้ำท่วม ส่วนช่วง มิ.ย.-ก.ย. 68 หลายพื้นที่ฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติและเสี่ยงต่อภาวะฝนทิ้งช่วงเตรียมรับมือให้ดี
ภาพที่ 2 ทาง Climate Prediction Center (NOAA) รายงานว่า ความน่าจะเป็นที่จะเกิดลานีญาช่วง ก.พ.-เม.ย. 68 ลดลงเหลือเพียงเท่ากับ 25% (ภาพซ้ายแท่งสีน้ำเงิน) ส่งไม้ต่อให้เฟสกลาง (ภาพซ้ายแท่งสีเทา) ซึ่งมีความน่าจะเป็นถึง 75% จากนี้เป็นต้นไป ถึงอย่างน้อย ธ.ค. 68 ทั้งนี้กำลังและความน่าจะเป็นของเอลนีโญ (แท่งสีแดง) เริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ เม.ย.-ธ.ค. 68 คงต้องจับตามดูกันต่อไปเนื่องจากผลพยากรณ์ยังต่างกับค่ายยุโรป (ECMWF) โดยภาพรวมยังเป็นเฟสกลางช่วง เม.ย.-ธ.ค. 68

สรุปข่าว
ภาพที่ 3 บ่งชี้ว่าเดือน เม.ย. 68 ค่าเฉลี่ยผลพยากรณ์ของสำนักอุตุนิยมวิทยา 13 สำนักทั่วโลกบ่งชี้ว่าปริมาณฝนมีแนวโน้มมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อยในเกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย (พื้นที่สีเขียวอ่อน) ฤดูร้อนปีนี้น่าจะไม่ร้อนมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเพราะจะได้ฝนช่วย ขณะที่เดือน พ.ค. 68 ปริมาณฝนมีแนวโน้มมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติต่อเนื่องจากเดือน เม.ย. 68 ในทุกภูมิภาคของประเทศ (พื้นที่สีเขียว) พื้นที่บางส่วนของแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และอุบลราชธานี จะมีฝนมากกว่าจังหวัดอื่น ฤดูฝนมีแนวโน้มมาเร็วกว่าปกติ ต้องระวังน้ำท่วมให้มากเนื่องจากบางแบบจำลองให้พื้นที่เขียวเข้มบ่งชี้ว่าฝนจะมากกว่าปกติอย่างมาก
ภาพที่ 4 บ่งชี้ว่า เดือน มิ.ย. 68 ปริมาณฝนมีแนวโน้มเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติในเกือบทุกภูมิภาค (พื้นที่สีขาว) ขณะที่ภาคตะวันออก ใต้ กลางตอนล่าง และตะวันตกตอนล่าง (สีส้ม) ปริมาณฝนมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยภาพชัดขึ้นว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติเพิ่มขึ้นในภาคใต้ และตะวันออก (ตราด) ขณะที่เดือน ก.ค. 68 ปริมาณฝนมีแนวโน้มเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติในภาคอีสานและภาคกลางบางส่วน (พื้นที่สีขาว) ทั้งนี้ภาคเหนือฝั่งตะวันตก ภาคตะวันตก หลายพื้นที่ของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนรวมถึงภาคใต้ตอนล่างบางส่วน ปริมาณฝนมีแนวโน้มน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ (พื้นที่สีส้ม ยิ่งสีส้มเข้มยิ่งฝนน้อยกว่าปกติ)
ภาพที่ 5 บ่งชี้ว่า เดือน ส.ค. 68 แนวโน้มคล้ายกับ ก.ค. 68 โดยปริมาณฝนมีแนวโน้มเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติในภาคอีสานและภาคกลางฝั่งตะวันออก (พื้นที่สีขาว) ขณะที่ภาคเหนือฝั่งตะวันตก ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกตอนล่าง ภาคกลางฝั่งตะวันตก (พื้นที่สีส้ม ยิ่งสีส้มเข้มยิ่งฝนน้อยกว่าปกติ) ฝนมีแนวโน้มน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ขณะที่เดือน ก.ย. 68 ภาคเหนือตอนบนและอีสานตอนบนจะมีปริมาณฝนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย (พื้นที่สีเขียวอ่อน) อาจต้องระวังน้ำท่วมเพราะเดือนนี้ปกติปริมาณฝนจะมากอยู่แล้ว ขณะที่ภาคตะวันตก ตะวันออก กลางบางส่วน และใต้ตอนบน (พื้นที่สีส้ม ยิ่งสีส้มเข้มยิ่งฝนน้อยกว่าปกติ) ฝนมีแนวโน้มน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
ภาพที่ 6 IRI มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พยากรณ์ว่าช่วง เม.ย.-มิ.ย. 68 ปริมาณฝนมีแนวโน้มมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ (พื้นที่สีเขียว) ในทุกภูมิภาค ฤดูแล้งปีนี้น่าจะไม่แล้งมาก แต่อุณหภูมิจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติยาวๆ โดยช่วง พ.ค.-ก.ย. 68 พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมีฝนเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติ (พื้นที่สีขาว) ยกเว้นเหนือตอนบนและอีสานตอนบนที่ฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อยช่วง พ.ค.-ก.ค. 68 เห็นสัญญาณฝนที่จะต่ำกว่าปกติในภาคใต้ (พื้นที่สีเหลืองและส้ม) ช่วง พ.ค.-ส.ค.68
เตรียมมือกับสภาพอากาศที่จะแปรปรวนมากในปี 2568 ด้วยความไม่ประมาทกันนะครับ ต้องเตรียมรับมือน้ำท่วมช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 และต้องวางแผนเรื่องการใช้น้ำให้ดี ด้วยการเตรียมกักเก็บน้ำฝนช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2568 โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันตก ตะวันออกตอนล่าง และภาคใต้ตอนบน ที่จะเสี่ยงต่อปริมาณฝนที่จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติยาวนาน ตั้งแต่ มิ.ย.-ก.ย. 68 และอาจเสี่ยงเผชิญภาวะฝนทิ้งช่วง และควรวางแผนการกักเก็บและใช้น้ำข้ามปีไว้ด้วยเพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่อาจจะเกิดขึ้นช่วงปลายปีเป็นต้นไปกันนะครับ
ที่มาข้อมูล : FB Witsanu Attavanich
ที่มารูปภาพ : FB Witsanu Attavanich