ไทยลดอันดับเสี่ยงโลกร้อน จากที่ 9 สู่ที่ 30 แต่ยังต้องรับมือภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยรายงาน Climate Risk Index 2025 โดย Germanwatch ซึ่งจัดอันดับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้วในระยะยาวช่วง 30 ปี (1993-2022) โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน อันดับที่ 30 ลดลงจากอันดับ 9 เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดอันดับครั้งก่อน (ช่วงปี 2000-2019) ซึ่งถือเป็นสัญญาณเชิงบวก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับผลกระทบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และจำเป็นต้องเพิ่มความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

รายงานระบุว่า ในช่วงปี 1993-2022 เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น พายุ คลื่นความร้อน และอุทกภัย ได้คร่าชีวิตประชาชนทั่วโลกกว่า 765,000 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเกือบ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย พายุ (35%) เป็นปัจจัยที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุด คิดเป็น 56% ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด หรือประมาณ 2.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ อุทกภัย (27%) ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรมากที่สุด โดยครึ่งหนึ่งของผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดมาจากน้ำท่วม สำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในปี 2022 ได้แก่ ปากีสถาน เบลีซ อิตาลี กรีซ สเปน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเผชิญกับพายุ น้ำท่วม และคลื่นความร้อนที่รุนแรง

ไทยลดอันดับเสี่ยงโลกร้อน จากที่ 9 สู่ที่ 30 แต่ยังต้องรับมือภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น

สรุปข่าว

กรมลดโลกร้อนเผยการจัดอันดับ Climate Risk Index 2025ประเทศไทยหลุดอันดับประเทศเสี่ยงสูงจาก 9 ไปอันดับ 30 โดยการบริหารจัดการภัยพิบัติและระบบเตือนภัยที่ดีขึ้น แต่ยังคงเผชิญกับภัยพิบัติจากอุณหภูมิสูงขึ้น ภัยแล้ง และฝนตกหนักผิดปกติ ประเทศไทยต้องเพิ่มความพร้อมในการรับมือ เช่น ปรับปรุงระบบเตือนภัยและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การที่ประเทศไทยลดอันดับความเสี่ยงจาก 9 มาอยู่ที่ 30 มาจากหลายปัจจัย ทั้งการบริหารจัดการภัยพิบัติที่ดีขึ้น การปรับปรุงระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า และการเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดัชนี โดยเพิ่มตัวชี้วัดด้านจำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบ และขยายช่วงเวลาการประเมินจาก 20 ปี เป็น 30 ปี อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้นในฤดูร้อน ภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น และปริมาณฝนที่ตกหนักผิดปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่ม นอกจากนี้ รายงานยังเตือนว่าภัยพิบัติจากสภาพอากาศสุดขั้วกำลังกลายเป็น "ความปกติใหม่" (New Normal) โดยเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นไม่บ่อยในอดีตกำลังทวีความรุนแรงและถี่ขึ้น

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า แม้อันดับความเสี่ยงของไทยจะลดลง แต่ยังคงต้องเตรียมความพร้อม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพระบบเตือนภัยให้แม่นยำขึ้น พัฒนาการสื่อสารข้อมูลสู่ประชาชนอย่างทันท่วงที ปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป้าหมายของประเทศไทยคือการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่าน เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน