ทีมคณะสำรวจไทย ภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เดินทางถึงสถานีวิจัยเกรทวอลล์ (Great Wall Station) ที่แอนตาร์กติก และเริ่มเก็บตัวอย่างดินตะกอนเพื่อขยายผลศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อระบบนิเวศแอนตาร์กติก พบว่าปีนี้น้ำแข็งละลายมากกว่าปีก่อนๆ อย่างน่าตกใจ
การสำรวจในปีนี้ ทางโครงการฯ ได้ส่งนักวิจัย 3 คน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยบูรพา และช่างภาพ 1 คน เพื่อไปร่วมสำรวจกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกแห่งจีน คณะที่ 41 (CHINARE 41) ของสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (PRIC) โดยเดินทางถึงแอนตาร์กติกเมื่อสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา และเริ่มทำการเก็บตัวอย่างทันที เพื่อศึกษาผลกระทบของขยะทะเล ไมโครพลาสติก และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีต่อสัตว์ทะเล และระบบนิเวศทางทะเลโดยได้ทำการเก็บตัวอย่างดิน และมูลของแมวน้ำและเพนกวินรวมทั้งวัดมลพิษทางอากาศของที่บริเวณแอนตาร์ติกด้วย

จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่าน้ำแข็งในหลายๆ ที่ของบริเวณแอนตาร์ติกได้ละลายและหายไป เมื่อเทียบกับ 11 ปีที่แล้วที่คณะไทยได้เคยมาทำการสำรวจ ส่วนมลพิษทางอากาศค่าที่ตรวจวัดได้พบว่า ที่แอนตาร์ติกอากาศยังบริสุทธิ์มากเมื่อเทียบกับอากาศบริเวณส่วนอื่นๆ ของโลก

สรุปข่าว

คณะสำรวจไทยภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริเดินทางถึงแอนตาร์กติกและพบว่าในปีนี้น้ำแข็งละลายมากกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากผลกระทบจากโลกร้อน ทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างดินและมูลสัตว์ทะเลเพื่อศึกษาผลกระทบจากมลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่าอุณหภูมิในแอนตาร์กติกสูงขึ้น จนทำให้หิมะที่ตกลงมาละลายทันที นอกจากนี้ยังพบว่ามลพิษทางอากาศที่แอนตาร์กติกยังต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ ของโลก

ด้าน
ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การเดินทางมาครั้งนี้เป็นไปตามความคาดหมายที่คิดว่าโลกร้อนน่าจะมีพบกระทบอย่างมากต่อน้ำแข็งและหิมะที่นี้ แต่ก็ต้องตกใจเช่นกัน ที่เห็นน้ำแข็งและหิมะหายไปในหลายๆ พื้นที่ นอกจากนี้ช่วงเวลาที่อยู่ที่นี่ ถึงแม้จะมีหิมะตก แต่เมื่อหิมะเหล่านั้นตกถึงพื้นก็จะละลายกลายเป็นน้ำ นั้นแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิบริเวณแอนตาร์กติกสูงขึ้นกว่าปกติ ทำให้หิมะที่ตกมาละลายกลายเป็นน้ำทันที ศ.ดร.สุชนา ยังกล่าวว่า “หลังจากนี้ นักวิจัยก็จะเริ่มทำการเก็บตัวอย่างมูลของเพนกวิน และแมวน้ำ เพื่อมาวัดปริมาณของมลพิษต่างๆ รวมทั้งจุลินทรีย์ในมูล เพื่อดูว่าสัตว์เหล่านั้นได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนหรือไม่”

การเดินทางเข้าร่วมการวิจัยกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกแห่งจีนครั้งนี้ นอกจากจะมี ศ.ดร.สุชนา เป็นหัวหน้าทีมแล้ว ยังมี
ผศ.ดร.สุจารี บุรีกุล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายนิพัธ ปิ่นประดับ จากมหาวิทยาลัยบูรพา และ
นายภคินัย ยิ้มเจริญ ช่างภาพจากสยามโสภา ได้เดินทางมากับทีมไทยด้วย การมาครั้งนี้นอกจากจะทำการวิจัยแล้ว จะมีการเก็บภาพและวิดิโอ เพื่อใช้ในการจัดทำหนังสือและสารคดีเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยขั้วโลกของไทย เนื่องในโอกาสปี 2568 นี้ เป็นปีมหามงคล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุ 70 พรรษา พร้อมทั้งเป็นการครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกด้วย