กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เผยความคืบหน้า พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อยู่ระหว่างชี้แจงความจำเป็นเกี่ยวกับจัดตั้งกองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Fund) ต่อกรมบัญชีกลางหากผ่านพิจารณา พ.ร.บ. จะเสนอที่ประชุมครม.ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

สรุปข่าว

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเผยความคืบหน้า พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ กฎหมายนี้จะจัดตั้ง "กองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" เพื่อสนับสนุนโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2065
นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวถึงความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือพ.ร.บ.โลกร้อน ว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.นี้ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการแห่งชาติในหลักการเรียบร้อย และจะเสนอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยคาดว่า พ.ร.บ. จะเข้าสู่ ครม.ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก่อนที่จะส่งไปให้กฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมายใหม่และเข้าสภาฯ เพื่อออกแบบและบังคับใช้ในปี 2569
โดยขณะนี้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ทางกรมการเปลี่ยนแปลงฯ อยู่ระหว่างการชี้แจงการจัดตั้ง “กองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate Fund) ซึ่งถือเป็นทุนหมุนเวียนที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ทุนหมุนเวียน โดย กระทรวงการคลัง กำกับดูแล ซึ่งวันนี้ (6 กุมภาพันธ์) ทางกรมการเปลี่ยนแปลงฯ มีการเซ็นหนังสือชี้แจ้งการจัดตั้งกองทุนฯ ต่อกรมบัญชีกลาง เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นและความไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่น หากผ่านการพิจารณาในส่วนนี้ จะสามารถเสนอที่ประชุม ครม. ได้ทันที
ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ มุ่งเน้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่ยั่งยืน โดยมีการจัดตั้งกองทุนภูมิอากาศซึ่งได้รับเงินทุนจากระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกลไกการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) เงินทุนเหล่านี้จะถูกนำไปใช้เพื่อส่งเสริมโครงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเสริมสร้างความมั่นคงให้กับภูมิอากาศของประเทศ
นอกจากนี้ จะช่วยเร่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก / กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) โดยผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การกำหนดมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับแต่ละภาค สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ