
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานฯ ที่มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสภาพอากาศ โดยระบุว่า
ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ผมมีภารกิจกับการประเมินสภาพอากาศกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจาก IPCC โลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้มลพิษทางอากาศจาก PM2.5 จะรุนแรงขึ้น (ทุกๆ 1 ℃ ประมาณ 0.5-1 ไมโครกรัมต่อลบ.เมตร) จากการเกิดปฏิกิริยาทางเคมีในอากาศของแก๊สเรือนกระจกมากขึ้น เช่นการใช้แอร์ การใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานฟอสซิล ประกอบกับการเผาไหม้ชีวมวล ปรากฎการณ์อุณหภูมิผกผัน (โดยเฉพาะในชุมชนเมืองที่มีสภาพอากาศร้อน และชุมชนในหุบเขา)
โลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้มีอัตราการระเหยมากขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งต้องโอบอุ้มความชื้น หรือปริมาณเมฆมากขึ้น (ทุกๆ 1 ℃ มีอัตราการระเหยเพิ่มขึ้น 7 %) จึงทำให้ความเสี่ยงของการเกิดสภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วสูงขึ้น และรุนแรงขึ้น พฤติกรรมสภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วอาจจะเป็นแบบรายเดือน รายฤดูกาล รายปี ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น

สรุปข่าว
ทั่วทุกภูมิภาคบนโลกได้รับผลกระทบแตกต่างกันจากการประเมินล่าสุดโดย IPCC ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้นด้วย (รู้ตัวเองหรือไม่ ?) เพราะขาดการประเมินลงรายละเอียดแต่ละพื้นที่ ผมยกตัวอย่างพื้นที่แต่ละจังหวัดในแต่ละภาคในปี 2567 ที่ผ่านมา สภาพอากาศแตกต่างกัน มีพฤติกรรมเหวี่ยงสุดขั้วต่างกัน (เฉดสีต่างกัน)
บางจังหวัดมีแนวโน้มจากร้อนแล้งไปสู่การมีฝนตกหนัก น้ำท่วม บางจังหวัดสลับขั้วกัน ดังนั้นภาคส่วนต่างๆตามพื้นที่ที่ต่างกัน (ภาคธุรกิจ ภาคเกษตรกรรม ภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม) จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัว การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เป็นเรื่องท้าทาย เพราะอนาคตสภาพอากาศไม่เหมือนเดิม
ที่มาข้อมูล : รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์
ที่มารูปภาพ : AFP