ผลการศึกษาฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 22 มกราคม พบว่าความร้อนของมหาสมุทรที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา ทำให้แนวปะการังขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นอกชายฝั่งประเทศออสเตรเลีย อย่าง “Great Barrier Reef”นั้น กำลังเข้าขั้น "หายนะแล้ว"
นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียเผยว่า กว่า 50% ของปะการังที่อยู่ตอนใต้ของแนวดังกล่าว ตายลงเมื่อปีที่แล้วระหว่างที่เกิด "การฟอกขาวครั้งรุนแรงและเป็นวงกว้าง" ที่สุดที่เคยเจอ

สรุปข่าว

แนวปะการัง “Great Barrier Reef”แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังเข้าขั้น "หายนะ" และพบว่า ปะการังตายขึ้นในสัดส่วนที่สูงขึ้น จากอากาศร้อน และอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นมาก
ในปี 2024 แนวปะการังนี้เผชิญกับฤดูร้อนที่เลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรแตะระดับสูงที่สุด ทำให้เกิด "การฟอกขาวครั้งที่ 7" ของ Great Barrier Reef แห่งนี้ ทำให้ปะการังกลายเป็นสีขาว เนื่องจากความร้อนของน้ำทำให้ปะการังเกิดความเครียด และขับสาหร่ายออกจากร่างกายของตัวเอง จนในที่สุดก็ไม่เหลือสีอยู่เลย
สาเหตุหลักคือ การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่เป็นเหตุให้โลกร้อนขึ้น อีกทั้งความเสียหายของปะการังยังเกิดเร็วขึ้น จากปรากฎการณ์เอลนีโญด้วย
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้ติดตามเฝ้าดูกลุ่มปะการัง 462 กลุ่มที่เกาะวันทรี ตลอด 5 เดือนเมื่อปีที่แล้ว และในเดือนพฤษภาคม พบว่า กลุ่มปะการัง 370 กลุ่ม ฟอกขาวและภายในเดือนกรกฎาคม 52% ของปะการังที่ฟอกขาวนั้นก็ตายลง
นอกจากนี้ ยังพบว่า ปะการังบางสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามนั้น มีอัตราการตายมากถึง 95% โดยนักวิจัยชี้ว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของ "การล่มสลายของอาณานิคมปะการัง" เพราะโครงปะการังที่ตาย จะหลุดออกจากแนวปะการัง และกลายเป็นเศษหินในทะเลต่อไป
“มาเรีย บาร์น” ผู้นำการวิจัย จากสถาบันวิทยาศาสรตร์ ชีวิต และสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ระบุว่า การค้นพบครั้งนี้ จะยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการเพื่อปกป้องแนวปะการัง ที่ไม่เป็นเพียงจุดสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความมั่นคงทางอาหาร และการปกป้องแนวชายฝั่งด้วย