

สรุปข่าว
สำหรับ ประเทศ 13 อันดับแรกที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด ซึ่งได้พิจารณาจากความสูญเสียด้าน “เศรษฐกิจ” และ “การเสียชีวิต” มีดังนี้ อันดับที่ 13 ประเทศไทย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีแนวชายฝั่งยาว 3,219 กิโลเมตร ทำให้ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ผู้คนจำนวน 11 ล้านคนต้องสูญเสียบ้านเรือน และอาจมีปริมาณน้ำฝนลดลงและเกิดปัญหาภัยแล้งที่ยาวนานขึ้น อันดับที่ 12 เอธิโอเปีย เกิดภัยแล้งอย่างหนักมาต่อเนื่องและแนวโน้มรุนแรงในอนาคต รวมถึงต้องพบกับปัญหาโรคระบาด รวมถึงประชาชนขาดแคลนอาหารจำนวนมาก อันดับที่ 11 ไนเจอร์ ภูมิประเทศบางส่วนกลายเป็นทะเลทราย ทำให้สูญเสียพื้นที่เพาะปลูกเป็นจำนวนมาก และคาดว่าอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส ในปี 2080 อันดับที่ 10 เนปาล ปัญหาธารน้ำแข็งละลาย ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักและดินถล่มในหลายพื้นที่ อันดับที่ 9 อินเดีย เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงบ่อยครั้ง มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนมากกว่า 24,000 คน ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อันดับที่ 8 มาดากัสการ์ เผชิญอากาศแปรปรวนต่อเนื่อง พืชผลทางการเกษตรถูกทำลายและประชาชนกว่า 2 ล้านคนอาจขาดแคลนอาหาร อันดับที่ 7 ฟิลิปปินส์ คาดว่าจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.8-2.2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีพื้นที่เป็นเกาะจำนวนมาก เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากพายุรุนแรง และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อันดับที่ 6 บังกลาเทศ ตามรายงานพบว่า ต้องเจอกับภัยธรรมชาติมากกว่า 185 ครั้งตั้งแต่ปี 2000 อาจสูญเสียที่ดินอีกร้อยละ 11 ภายในปี 2050 อันดับที่ 5 เฮติ เป็นประเทศที่มีปัญหาจากภัยพิบัติที่เกี่ยวกับวิกฤตอากาศมากที่สุดตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 392 ล้านดอลลาร์ อันดับที่ 4 ปากีสถาน เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเฉียบพลันในปี 2022 ทำให้มีพื้นที่การเกษตรและฟาร์มเลี้ยงสัตว์เสียหายเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะมีประชาชนมากกว่า 14 ล้านคน ต้องเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร อันดับที่ 3 เมียนมา ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7,000 คนต่อปี สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ อันดับที่ 2 โมซัมบิก ในอนาคตมีความเสี่ยงการเกิดพายุไซโคลน น้ำท่วม และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากมีชายฝั่งทะเลยาว 2,300 กิโลเมตร เดือน มี.ค. ปีที่แล้ว ประชาชนกว่า 200,000 คน ต้องไร้ที่อยู่จากพายุ อันดับที่ 1 อัฟกานิสถาน เกิดภัยแล้งต่อเนื่องกันมา 3 ปี สลับกับน้ำท่วมหนัก ทำให้การผลิตอาหารลดลง ประชาชน 23 ล้านคน ต้องเผชิญกับวิกฤติขาดแคลนอาหาร แต่ความสามารถในปรับตัวและรับมือยังน้อย ทำให้เกิดความสูญเสียมาก จาก 13 อันดับประเทศข้างต้นจะเห็นได้ว่า ประเทศเหล่านี้ส่วนมากเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยแต่ได้รับผลกระทบมาก และนับวันภัยจากโลกร้อนดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นทั่วโลกต้องช่วยกันลดอุณหภูมิโลกรวมถึงเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ที่มาข้อมูล : -