

สรุปข่าว
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างเป็นกังวลว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรอุ่นขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดพายุได้ง่ายขึ้นและแรงขึ้น เนื่องจากพายุจะดึงพลังงานจากผิวน้ำทะเลขึ้นมา ถ้าหากบริเวณด้านล่างของมหาสมุทรนั้นเย็นมากพอ พายุก่อไม่สามารถก่อตัวขึ้นได้หรือถ้าหากก่อตัวขึ้นมาแล้วก็จะอ่อนกำลังลงไป แต่ถ้าหากอุณหภูมิของมหาสมุทรอุ่นขึ้นมาก ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้พายุกำลังแรงขึ้นได้อีก ซึ่งการเกิดพายุหมุนเขตร้อนนั้น เมื่อน้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้นมากพอ เฉลี่ยแล้วประมาณ 27 องศาเซลเซียส ก็จะทำให้ไอน้ำจำนวนมากระเหยขึ้นสู่บรรยากาศ จากนั้นไอน้ำจะเกิดการกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำเล็ก ๆ และก่อตัวเป็นเมฆ ซึ่งการกลั่นตัวของไอน้ำนี้จะมีการคายความร้อนออกมา เมื่อพลังงานความร้อนในส่วนนี้ประกอบกับแรงโคริออริสที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ก็จะทำให้เกิดเป็นพายุหมุนได้ พายุหมุนที่เกิดขึ้นจะเคลื่อนไปตามแนวความกดอากาศต่ำ เมื่อพายุหมุนเคลื่อนที่เหนือน้ำทะเลไปเรื่อย ๆ จะมีกำลังแรงขึ้นจนพัฒนาเป็นพายุดีเปรสชัน ซึ่งมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่เกิน 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อพายุทวีกำลังแรงขึ้นโดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่เกิน 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเรียกว่าพายุโซนร้อน หลังจากนั้นหากพายุทวีกำลังแรงขึ้นอีกและมีความเร็วลมสูงสุดเกิน 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป จะเรียกว่าพายุไต้ฝุ่น จะเห็นว่าปัจจัยเรื่องของอุณหภูมิของมหาสมุทรนั้นมีผลเป็นอย่างมากต่อการก่อตัวของพายุ ถ้าหากโลกของเราร้อนขึ้นเรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่โลกของเราจะเจอพายุบ่อยขึ้นและเจอพายุลูกใหญ่ขึ้น แน่นอนว่าจะสร้างความเสียหายมากทีเดียว
ที่มาข้อมูล : -