

สรุปข่าว
หลายคนจะรู้สึกว่า อากาศในเมืองมักจะร้อนกว่านอกเมือง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า ปรากฏการณ์เกาะความร้อน หรือโดมความร้อนนั่นเอง ปรากฏการณ์โดมความร้อน มักจะเกิดในเมืองใหญ่ที่มีความหนาแน่นสูง โดยจะมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดยรอบ สาเหตุมาจากการพัฒนาเมือง เช่น มีตึกจำนวนมาก ซึ่งมีมากกว่าต้นไม้ที่จะคอยดูดซับมลพิษ หรือดักจับฝุ่นในอากาศ ตึกสูงๆเยอะ ทำให้เกิดการบังลมของอาคารสูง ทำให้ไม่เกิดการระบายความร้อนออกไปจากเมือง มีการดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน และปล่อยออกมาในเวลากลางคืน หรือการใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ทำให้เกิดความร้อน เช่นความร้อนจากเครื่องปรับอากาศ ก็ทำให้เกิดการสะสมของพลังงานความร้อนตามอาคาร ซึ่งปล่อยออกมาทำให้เกิดเกาะความร้อนเมืองในบริเวณโดยรอบนั่นเอง หรือแม้กระทั่งในบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่นก็มีส่วนทำให้มีการเพิ่มอุณหภูมิทั่วไปโดยเฉลี่ยด้วยเช่นเดียวกัน มีงานวิจัยพบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับขนาดของเมืองและจำนวนประชากร อย่างเช่นในกรุงเทพ พบว่าพื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง ได้แก่ พื้นที่สีลมและเยาวราช เป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลของปรากฏการณ์เกาะความร้อนมากที่สุด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอาคารสูงและประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น พื้นที่ที่มีความหนาแน่นปานกลาง ได้แก่ พื้นที่รัตนโกสินทร์และพื้นที่สามย่าน เป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลของปรากฏการณ์เกาะความร้อนรองลงมา และพื้นที่ที่มีความหนาแน่นน้อย ได้แก่ ย่านบางกะปิ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีระยะห่างของอาคารมีมาก ทำให้มีการระบายอากาศได้ดี เมื่อมีชุมชนมากขึ้น สิ่งก่อสร้างมากขึ้น ก็จะไปแทนที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เกิดการปล่อยทั้งพลังงานความร้อนและมลพิษออกมา กลายเป็นปรากฎการณ์โดมความร้อนหรือเกาะความร้อนนั่นเองค่ะ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำไมอากาศในเมืองใหญ่จึงร้อนกว่านอกเมือง
ที่มาข้อมูล : -