

สรุปข่าว
อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา แถลงข่าวประเด็น "แผ่นดินไหวบริเวณ ทะเลอันดามันประเทศอินเดียทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.เมือง จ.พังงา ประมาณ 500 กิโลเมตร ในช่วงวันที่ 4-6 กรกฎาคม 2565
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว บริเวณทะเลอันดามัน ประเทศอินเดีย ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.เมือง จ.พังงา ซึ่งศูนย์กลางจะอยู่ห่างจาก จ.พังงา ประมาณ 500 กิโลเมตร ลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวเป็นลักษณะเป็นประจุ ไม่ได้มีแผ่นดินไหวหลัก
โดยจะเป็นกลุ่มของแผ่นดินไหวที่ขนาดปานกลางเกิดขึ้นในบริเวณใกล้ๆ กันแล้วก็ในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งกลุ่มของแผ่นดินไหวนี้จะเกิดขึ้นตามแนวการขยายตัวของพื้นมหาสมุทรอันดามัน ที่มีลักษณะการเลื่อนตัวแบบปกติ ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะเป็นการแผ่นดินไหวที่ไม่รุนแรง
ทั้งนี้ สถิติช่วงวันที่ 4-6 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีจำนวนแผ่นดินไหวเกิดขึ้น จำนวน 32 ครั้ง ถือว่า เป็นเหตุการณ์ที่ไม่รุนแรง อยู่ในระดับ 4.0-4.9 สั่นไหวปานกลาง วัตถุห้อยแขวนแกว่งไกว ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์สึนามิ
โดยภาวะน้ำทะเลหนุนในจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตามที่มีประชาชนเป็นกังวลนั้น เนื่องจากคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันตอนบน ตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ทำให้เกิดคลื่นสูง 2-3 เมตร
"ยืนยันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสึนามิน้อยมาก เพราะไม่เกิดการเลื่อนตัวในแนวดิ่ง และมีขนาดที่ไม่ใหญ่มาก อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด โดยมีกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้นแจ้งเตือนไปยังช่องทางต่างๆ และแจ้งไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทราบ เพื่อแจ้งให้ประชาชนรับทราบอีกครั้ง" นางสาวชมภารี กล่าว
ด้าน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ในเรื่องของการรับมือของประเทศไทย เมื่อได้รับแจ้งยืนยันว่าเกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาดตั้งแต่ 7.8 ขึ้นไป
ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะมีการแจ้งเตือนผ่านไปยังหอเตือนภัยในพื้นที่ทะเละอันดามัน ซึ่งมีทั้งหมด 132 หอเตือนภัยสึนามิ เพื่อแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อสึนามิใน 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และภูเก็ต อยู่ในทั้งหมด 27 อำเภอ 102 ตำบล 509 หมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเกิดสึนามิ
โดย ปภ.มีหน้าที่คอยติดตามข้อมูลในเรื่องการเกิดแผ่นดินไหว และแนวโน้มการเกิดสึนามิ ตลอด 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ที่กล่าวมานั้น มีเครื่องมือที่ใช้ในการติดตามเฝ้าระวังการเกิดสึนามิ เรียกว่า "ทุ่นสึนามิ" ใช้สำหรับติดตามเฝ้าระวังยืนยันว่า มีการเกิดสึนามิในทะเลจริงหรือไม่หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหว
ถ้าทุ่นสึนามิมีการส่งสัญญาณว่ามีคลื่นสึนามิในทะเล จะส่งมาที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ขณะเดียวกันก็ส่งไปยังที่หน่วยงานในระหว่างประเทศที่ชื่อว่า NOAA ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นเครือข่ายใหญ่ที่มีประเทศสมาชิกทำงานร่วมกันในการพิจารณา เมื่อได้รับสัญญาณจากทุ่น ก็จะกดสัญญาณแจ้งเตือนไปยังพื้นที่ว่าเกิดขึ้นสึนามิ
แต่ว่าในภาวะที่ทุ่นไม่สามารถทำงานได้ ตามที่เป็นข่าวปรากฏในปัจจุบันนี้ หลายคนมีความกังวลว่าทุ่มสึนามิของประเทศไทย ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรับผิดชอบอยู่นั้น ทั้ง 2 ทุ่น ได้หลุดออกจากแท่นยึด แต่ก็ยังมีระบบทุ่นสึนามิของประเทศต่างๆ ที่จะส่งสัญญาณ ไปยัง NOAA เพื่อประมวลผลแจ้งมายังประเทศ สมาชิกทั้งหลาย
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าทุ่นสึนามิของหลายประเทศไม่ส่งสัญญาณขอเรียนว่า ในกรณีนี้จะเริ่มจากการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวก่อน ถ้าระดับตั้งแต่ 7.8 ขึ้นไป ทาง NOAA จะส่งข้อมูลมายังกลุ่มประเทศเสี่ยงว่าจากการวิเคราะห์ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดคลื่นสึนามิ ดังนั้นยืนยันว่าประเทศไทยยังได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนการเกิดแผ่นดินไหวและการเกิดคลื่นสึนามิอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันในกรณีที่ไม่มีทุ่นสึนามิทำงานอยู่ในขณะนี้ แต่ยังมีสถานีวัดระดับน้ำทะเลทั้งของประเทศไทย ประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งจากจุดที่วัดระดับน้ำทะเล ที่ประเทศอินเดีย จะส่งข้อมูลว่ามีการเกิดสึนามิมายังประเทศไทย ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะกดสัญญาณแจ้งเตือนไปยังพื้นที่ ใน 6 จังหวัดต่อไป.
ภาพจาก ผู้สื่อข่าว จ.ภูเก็ต , ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.ภูเก็ต (ภาคประชาชน)
ที่มาข้อมูล : -