

สรุปข่าว
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 เศรษฐกิจจีนขยายตัวถึง 12.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา จนหลายประเทศแอบฉงนไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนแบบไม่เกรงอกเกรงใจชาติอื่น
อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จีนต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่รุมเร้ารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการหลุดรอดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ติดเข้ามากับคนและสินค้าจากต่างประเทศ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และค่าระวางเรือที่พุ่งสูงขึ้น ปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ตอนกลางของจีน วิกฤติอสังหาริมทรัพย์เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) และตามด้วยวิกฤติพลังงาน รวมทั้งแรงกดดันจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ
ปัญหาเหล่านี้ส่อเค้าว่าจะลากยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนในครึ่งปีหลังจะเติบโตในอัตราที่ลดลง เมื่อเทียบกับของช่วงครึ่งปีแรก จีนจะแก้ไขปัญหาอย่างไร และสถานการณ์เช่นนี้จะกดดันรัฐบาลจีนหรือไม่ ...
หากพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจของไตรมาสที่ 3 ที่ทางการจีนเปิดเผยว่าเติบโต 4.9% เมื่อเทียบกับของช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ก็พบว่าเป็นอัตราที่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้อยู่มาก และนับเป็นการเติบโตในอัตราที่ลดลง 3 ไตรมาสต่อเนื่องกัน
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนปี 2020-2021
จำแนกรายไตรมาส
ไตรมาสที่ 1/2020 -6.8%
ไตรมาสที่ 2/2020 3.2%
ไตรมาสที่ 3/2020 4.9%
ไตรมาสที่ 4/2020 6.5%
ไตรมาสที่ 1/2021 18.3%
ไตรมาสที่ 2/2021 7.9%
ไตรมาสที่ 3/2021 4.9%
แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในภาพย่อยของไตรมาสที่ 3 ดูอ่อนแรงลง แต่หากพิจารณาในภาพรวมจากการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวในช่วง 9 เดือนแรกที่ระดับ 9.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เพราะยังเติบโตในระดับที่ทางการจีนใช้คำว่า “สามารถควบคุมได้”
ในภาคการค้าปลีก การจับจ่ายใช้สอยของจีนดูจะเป็น “พระเอก” อยู่ต่อไป โดยในช่วงไตรมาสที่ 3 การค้าปลีกของจีนส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจาก 0.1% ในเดือนกรกฎาคม และ 2.5% ในเดือนสิงหาคม เป็น 4.4% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หลายสำนักก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ มูลค่าการค้าปลีกในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวถึง 16.4% เมื่อเทียบกับของปีก่อน ซึ่งอยู่ในระดับที่น่าพอใจภายใต้เงื่อนไขการยอมรับระดับการติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นศูนย์ของรัฐบาลจีน
ขณะเดียวกัน ปัญหาการขาดแคลนและราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ถูกคุมเข้มโควต้าการใช้ไฟฟ้า โรงงานและกิจการพาณิชย์จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs ต้องลดกำลังการผลิต หรือเปลี่ยนไปผลิตสินค้าในช่วงกลางคืน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอย่างเห็นได้ชัด
โดยภาคการผลิตในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นเพียง 3.1% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 4.5% อยู่ค่อนข้างมาก และนับว่าเป็นอัตราต่ำสุดนับแต่เดือนมีนาคม 2020 ซึ่งในขณะนั้น จีนกำลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ในระลอกแรก
แต่เมื่อพิจารณาในเชิงลึกก็พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี ภาคการผลิตของจีนได้ปรับโครงสร้างไปอย่างรวดเร็ว โดยเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงเป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น การผลิตสินค้าไฮเทคขยายตัวกว่า 20% ขณะที่การผลิตยานยนต์พลังงานใหม่พุ่งทะยานถึง 172.5% เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน การลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคยังคงขยายตัวอยู่ถึง 18.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ดี การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ในเดือนกันยายน 2021 ในภาพรวมชะลอตัวลง -1.8% ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เบอร์ 2 ของจีน ที่เริ่มส่อเค้ามาระยะหนึ่งและประทุขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกันยายนอยู่ที่ราว 4% เดือนสิงหาคม 2.5% เทียบกับการลงทุนที่ขยายตัว 38% ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์
การผิดนัดชำระดอกเบี้ยต่อเนื่องหลายครั้ง ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์และการเงินเกิดความกังวลใจและผู้บริโภคขาดความมั่นใจในสภาพตลาดในวงกว้าง สะท้อนถึงความเปราะบางของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ทั้งนี้ การลงทุนฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีขยายตัว 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าอัตรา 7.9% ที่คาดการณ์ไว้
การค้าระหว่างประเทศก็ยังแสดงผลงานได้ค่อนข้างดี โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี มูลค่าการส่งออกขยายตัว 22.7% และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 22.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการส่งออกของสินค้าสำคัญที่ส่งสัญญาณเชิงบวก ก็ได้แก่ เครื่องจักรกลและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติบโต 23% เมื่อเทียบกับของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนถึง 58.8% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม
อย่างไรก็ดี โดยที่จีนยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายในหลายด้าน และส่อเค้าที่จะดำรงอยู่ต่อไปจนถึงสิ้นปีจนหลายคนปริวิตก แต่ก็พบว่า ปัญหาเหล่านี้มีหลายสิ่งซ่อนอยู่และมากกว่าที่เราได้รับรู้ก่อนหน้านี้ ประการสำคัญ รัฐบาลจีนมักสามารถแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเบ็ดเสร็จ รวมทั้งมีมุมมองแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ “นอกกรอบ” เสมอ
โดยอาศัยทรัพยากรมากมายในมือ รัฐบาลจีนยังมักเลือกที่จะ “เปลี่ยนเกมส์” และกำหนดแนวทางในการแก้ไขวิกฤติหลายเรื่องในมุมมองที่แตกต่างจากที่หลายคนคาดคิดไว้
ในมุมมองของภาครัฐและเอกชนจีน ปัญหาการขาดแคลนพลังงานไม่ใช่เรื่องใหญ่ และเป็นปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น แต่ปัญหาขยายวงกว้างขึ้นเมื่อราคาพลังงานถีบตัวสูงขึ้นมาก และพื้นที่ทางตอนเหนือของจีนเริ่มเผชิญกับอากาศหนาวเย็นที่มาเร็วกว่าทุกปี แถมยังถูกสื่อตะวันตกนำไปประโคมข่าวว่า จีนกำลังเผชิญ “วิกฤติพลังงาน” ครั้งใหญ่จนกลายเป็นประเด็นที่โด่งดังไปทั่วโลก
อันที่จริง รัฐบาลจีนได้พยายามเพิ่มปริมาณสต็อกถ่านหินและพลังงานอื่นให้เพียงพอกับฤดูหนาวนี้ พร้อมกำหนดมาตรการตามมามากมาย อาทิ การให้เหมืองถ่านหินในมณฑลส่านซี ซานซี และมองโกเลียในเพิ่มกำลังการผลิตถ่านหินอีก 100 ล้านตัน
จีนยังเพิ่มการจัดซื้อพลังงานจากต่างประเทศ อาทิ ถ่านหินจากซัพพลายเออร์รายใหญ่อย่างอินโดนีเซีย มองโกเลีย และรัสเซีย และเร่งพัฒนาโครงการพลังงานอื่นอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินท่อก๊าซธรรมชาติเส้นใหม่จากรัสเซียผ่านมองโกเลียเข้าบริเวณ “หลังไก่” ของจีนเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงานในระยะยาว
นอกจากนี้ จีนยังเห็นชอบให้ปรับโครงสร้างราคากระแสไฟฟ้าที่จำหน่ายให้ธุรกิจการผลิตและพาณิชย์ให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น และมอบหมายให้รัฐบาลท้องถิ่นลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ SMEs
ปัญหาวิกฤติพลังงานสลับซับซ้อนขึ้นในมุมมองของสินค้าส่งออกจีน โดยเฉพาะเมื่อนำเอาวิกฤติระวางเรือมาประกอบร่าง เพราะปัญหาทั้งสองกดดันให้สินค้าจีนมีมาร์จินลดลง บางส่วนไม่คุ้มค่ากับการผลิตและส่งออก ด้วยเหตุนี้จีนจึงต้องการ “เปลี่ยนเกมส์” เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองด้านราคา โดยเลือกลดกำลังการผลิต และจำกัดการส่งออกที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และอาจจะลากยาวต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี
การกระทำดังกล่าวเป็นเสมือนการส่งสัญญาณไปยังชาติตะวันตกที่ควบคุมธุรกิจพลังงาน และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศว่า ก่อนหน้านี้ เราเห็นจีนพยายามลดการผลิตสินค้าที่ใช้พลังงานเข้มข้น และก่อให้เกิดมลพิษมาก แต่วันนี้ จีนยังจะลดการผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่ต่ำ
ชาติตะวันตกอาจไม่สามารถฉลองหลายเทศกาลที่รออยู่ในช่วงสิ้นปีนี้ได้อย่างเต็มที่หากขาดสินค้าส่งออกของจีน สิ่งเหล่านี้อาจกดดันให้เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนักต้องเผชิญกับสถานการณ์ Stagflation ได้ในอนาคต
จีนประเมินว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าชาติตะวันตก และโดยอาศัยอานิสงค์ของการส่งออกที่ขยายตัวอย่างร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา เพียงรักษาโมเมนตัมนี้เอาไว้ได้ ก็คาดว่า จีนจะยังคงได้เปรียบดุลการค้าในระดับที่สูงเอาไว้ได้ต่อไป โดยคาดว่ามูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนจะทะลุ 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก
ด้วยเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ จีนจะเป็นตลาดนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าเฉลี่ยราว 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี จึงนับเป็นตลาดสินค้าที่ไทยควรให้ความสำคัญอย่างจริงจังในระยะยาว
ในประเด็นวิกฤติหนี้เอเวอร์แกรนด์ ในด้านหนึ่ง วิกฤติหนี้เอเวอร์แกรนด์สะท้อนรากเหง้าของพฤติกรรมการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีน ที่สะท้อนว่าวิกฤติดังกล่าวอาจเป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ของปัญหาเท่านั้น และ “ฟองสบู่” จะกลายเป็นประเด็นปัญหาที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันอีกครั้ง
โดยที่อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ กิจการออกแบบก่อสร้าง และผู้ผลิตปูนซิเมนต์ เหล็ก และวัสดุก่อสร้างอื่น มีสัดส่วนคิดเป็นราว 25-30% ของเศรษฐกิจจีนโดยรวม วิกฤติดังกล่าวจึงมีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
เพื่อลดความเสี่ยงก่อนที่วิกฤติหนี้ของเอเวอร์แกรนด์จะลุกลามและทำให้กิจการที่เกี่ยวข้องอาจล้มลงเป็น “โดมิโน” รัฐบาลจีนก็ไม่นิ่งนอนใจ โดยออกมา “ตัดไฟแต่ต้นลม” แยกธุรกิจของเอเวอร์แกรนด์ออกเป็นหลายส่วน และให้รัฐวิสาหกิจ กิจการเอกชนรายใหญ่ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปซื้อทรัพย์สิน และแก้ไขปัญหาอย่างสะเด็ดน้ำ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบเชิงลบลุกลามข้ามปี
เพราะนอกจากปัญหาในเชิงเศรษฐกิจและการเงินแล้ว ปีหน้า จีนยังจะเป็นเจ้าภาพหลาย “งานใหญ่” อันได้แก่ เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว และเอเชียนเกมส์ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารระดับสูงของพรรคฯ อีกด้วย
นักวิเคราะห์บางคนยังผูกโยงวิกฤติหนี้เอเวอร์แกรนด์เข้ากับประเด็นทางการเมือง เพราะวิกฤติดังกล่าวปะทุตัวขึ้นภายหลังการประชุมฤดูร้อนเป่ยไต้เหอ (Beidaihe) ซึ่งตามมาด้วยการออกมาตอกย้ำนโยบาย “ความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้า” (Common Prosperity) อย่างจริงจังของสี จิ้นผิง
พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการผลักดันให้นโยบายนี้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ที่อยู่อาศัยนับเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่รัฐบาลจีนต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จึงพยายามลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนจีนที่มีรายได้ต่ำสามารถหาซื้อหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และมีความมั่นคงทางสังคมได้ในอนาคต
ดังนั้น อาการ “ฝีแตก” ในครั้งนี้ก็อาจถูกมองว่าเป็นเพียงการเริ่มต้นปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต แต่ผมยังมองว่า รัฐบาลจีนอาจเลือกวิธีการแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” เพื่อมิให้ตลาดแตกตื่น นั่นหมายความว่า รัฐบาลจีนจะมีมาตรการคุมเข้มสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์ และใช้จังหวะโอกาสนี้จัดระเบียบอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปในปีหน้า
แน่นอนว่า จีนไม่อยากเห็นวิกฤติหนี้เอเวอร์แกรนด์กลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” และกระทบ “งานใหญ่” ที่รออยู่ในปีหน้า
แล้วในภาพรวม เศรษฐกิจจีนจะเติบโตสักเท่าไหร่ อย่างไร ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2021 ที่ “ฉายแสง” ที่ระดับเกือบ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เทียบกับเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 6% ผมจึงประเมินว่า รัฐบาลจีนจะ “ลอยตัว” และมี “แรงกดดันต่ำ” ที่จะต้องผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตแรงในไตรมาสสุดท้าย
แม้ว่าสถานการณ์ของหลายปัญหาจะยังไม่คลี่คลายทั้งหมด แต่ผมก็ยังประเมินว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตทั้งปีที่ราว 8% เฉลี่ยสองปีที่ผ่านมา (2020-2021) ที่มากกว่า 5% ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจ โดยจีดีพีของจีนจะทะยานขึ้นไปเฉียดระดับ 17 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2021 ซึ่งจีนอาจช่วยลดอาการ “ตาร้อน” ของหลายประเทศ เตรียมงานฉลองตรุษจีน และเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยไม่ต้องแบกรับภาระแรงกดดันมากอย่างที่หลายคนกังวลใจแต่อย่างใด ...
ข้อมูลจาก ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
ภาพจาก AFP / reuters
ที่มาข้อมูล : -