

สรุปข่าว
เมื่อหลายวันก่อน ผมได้มีโอกาสอ่านบทความ “China’s New Innovation Advantage” ที่เขียนโดยแซ็ค ได้ชท์วาล์ด (Zak Dychtwald) และตีพิมพ์ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2021 ผมเห็นว่าบทความดังกล่าวมีสาระและแง่มุมที่น่าสนใจหลายประการ เลยอยากนำมาแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านกัน ...
ท่านผู้อ่านอาจรู้จัก แซ็ค ได้ชท์วาล์ด ในฐานะผู้เขียนหนังสือชื่อ “Young China: How the Restless Generation will Change their Country and the World” ที่สร้างสรรค์ด้วยการขายในรูปของ “หนังสือเสียง” (Audio Book) เมื่อปี 2018
หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเมื่อปี 2012 แซ็ค ได้ชท์วาล์ด ตัดสินใจครั้งใหญ่ด้วยการย้ายไปใช้ชีวิตในจีนเพื่อสัมผัสการเติบใหญ่ของจีนด้วยตนเอง เขาเริ่มจากการลงทุนเรียนภาษาและวัฒนธรรมจีน
ตลอดเวลานับทศวรรษ แซ็ค ได้ชท์วาล์ด รวบรวม วิจัย และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจและตลาดจีนในเชิงลึก ทำให้เขาก้าวเป็นผู้เชี่ยวชาญ และนักพูดตัวยงเกี่ยวกับจีนยุคใหม่ รวมทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Young China Global Group ที่เป็น “ถังความคิด” และคณะที่ปรึกษาที่ออกแบบขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่เกี่ยวข้องแก่คนรุ่นใหม่ชาวตะวันออกและตะวันตก
ประการสำคัญ สำหรับผมแล้ว นอกจากบทความนี้จะมีหัวข้อเรื่องที่อยู่ในกระแสการพัฒนาของโลกแล้ว บทความ “China’s New Innovation Advantage” นี้ยังวิเคราะห์การพัฒนาด้านนวัตกรรมของจีนตามความเป็นจริง โดยสะท้อนมุมมองจากซีกโลกตะวันตกไว้ได้อย่างลุ่มลึก ซึ่งส่วนนี้ต้องยกเครดิตเต็มๆ ให้กับ แซ็ค ได้ชท์วาล์ด
ในอดีต โลกมองจีนในฐานะประเทศที่เก่งกาจในการลอกเลียนแบบ และต่อมาก็ “ต่อยอด” พัฒนาคุณภาพสินค้าเหล่านั้นด้วยการ “Copy & Develop” ส่งผลให้สินค้าจีน “ทั้งถูก ทั้งดี” จนหลายคนที่ไปเยือนจีนสงสัยมากว่า “จีนทำได้อย่างไร”
แซ็ค ได้ชท์วาล์ด ไขข้อสงสัยนี้ด้วย “การลอกเลียนแบบสุดโหด” (Brute-Force Imitation) ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงค์จากความพร้อมด้านปัจจัยด้านแรงงานจากยุคเบบี้บูมที่มีจำนวนหลายร้อยล้านคนและราคาค่าจ้างต่ำ การรับจ้างผลิตสินค้าให้ต่างประเทศทำให้จีนกลายเป็น “โรงงานของโลก” เกิดเป็นสภาพการณ์ที่เรียกว่า “ต่างชาติคิด คนจีนทำ”
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงงานผลิตถูกพัฒนาสู่สายการผลิตที่มีความทันสมัย ขณะที่เครือข่ายธุรกิจที่เกิดขึ้นจากมิติเชิงรับในยุครับจ้างผลิตสินค้าถูกปรับเปลี่ยนสู่เชิงรุกในเวลาต่อมา
เมื่ออากรนำเข้าและค่าใช้จ่ายด้านลอจิสติกส์ลดต่ำลง ผู้ผลิตของหลายชาติก็เปลี่ยนสถานะจากการ “แข่งขัน” ไป “ว่าจ้างผลิต” หรือ “หาซื้อ” สินค้าจีนมาจำหน่ายมากขึ้น ยิ่งในยุคหลัง ผู้ประกอบการจีนที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล และเพียบพร้อมด้วยทรัพยากรและความคิดดีๆ ก็ทะลุทะลวงสู่ตลาดโลก
นโยบายลูกคนเดียวที่จีนเริ่มนับแต่ยุคเปิดประเทศสู่ภายนอก และดำเนินมาต่อเนื่องหลายทศวรรษ ในด้านหนึ่งช่วยควบคุมการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจีน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้จำนวนแรงงานในยุคต่อมาไม่มากพอที่จะทดแทนแรงงานเดิมได้
จากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า จีนจะมีคนในวัยทำงานในปี 2030 น้อยกว่าปี 2015 ถึงกว่า 80 ล้านคน และหลังจากปี 2030 จำนวนประชากรจะทยอยลดลงเฉลี่ยปีละ 7.6 ล้านคน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีมติสนับสนุนนโยบายลูกสามคนเมื่อกลางปี 2021
ในมุมมองของแซ็ค ได้ชท์วาล์ด การลดลงของคนในวัยทำงานทำให้จีนต้องหาแนวทางใหม่ในการใช้ประโยชน์จากผู้สูงอายุ โดยเปลี่ยนจากการพึ่งพาการลอกเลียนแบบไปสู่นวัตกรรม แต่คำถามใหญ่ก็คือ จีนจะแข่งขันกับโลกผ่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้หรือไม่
บทความเรื่อง “Why China Can’t Innovate” ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Harvard Business Review เมื่อมีนาคม 2014 ก็สะท้อนว่า ชาติตะวันตกได้รุดหน้าในเรื่องการสร้างนวัตกรรมและนวัตกรกว่าจีนเป็นอย่างมาก จึงนับเป็นความท้าทายยิ่งสำหรับจีนในการแข่งขันในอนาคต
แต่ปรากฏว่าใน 2 ปีต่อมา จีนสร้างสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพขึ้นเป็นจำนวนมาก สตาร์ตอัพเหล่านี้สามารถยกสถานะขึ้นเป็น “ยูนิคอร์น” ในชั่วพริบตา จนผู้คนเริ่มรู้สึกว่า จีนกำลังสร้างสถานะของการเป็น “บ้านเกิด” ของยูนิคอร์นโลก
จำนวน 8 ใน 10 บริษัทที่มีมูลค่าธุรกิจ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่สั้นที่สุดเป็นกิจการของจีน แถมจำนวน 6 ใน 8 บริษัทเหล่านั้นก่อตั้งขึ้นในปี 2014 ที่บทความดังกล่าวตีพิมพ์ขึ้น
ดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ของจีนพุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว 9 ปีติดต่อกัน จนก้าวไปติดอันดับที่ 12 ในปี 2021 โดยมีปัจจัยสำคัญอยู่ที่ผู้นำและทีมงานในองค์กรจีนที่ริเริ่มไอเดียใหม่ที่ยิ่งใหญ่ แต่หลายฝ่ายก็ยังเห็นว่า ผู้นำและธุรกิจของสหรัฐฯ มีความโดดเด่นเหนือกว่าจีนในประเด็นลักษณะพิเศษและมุมมองความคิดที่รวดเร็ว เหมาะสม และมีพลวัต
อย่างไรก็ดี “สงครามเย็นด้านนวัตกรรม” (Innovation Cold War) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงสถานะของจีนที่ก้าวขึ้นทาบชั้นสหรัฐฯ ได้อย่างรวดเร็ว และสะท้อนถึงปัจจัยอื่นที่สำคัญมากกว่า
แซ็ค ได้ชท์วาล์ด ค้นพบว่า จีนมีทรัพยากรหนึ่งที่ชาติอื่นไม่มี อันได้แก่ ผู้เปิดรับและปรับตัวแบบสุดๆ (Hyper-Adopters & Adapters) ประชากรจำนวนมหาศาลของจีนที่เปิดรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงรุกด้วยระดับความเร็วและปริมาณอย่างที่คาดไม่ถึง นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนแข่งขันในตลาดโลกได้
ความเต็มใจของผู้บริโภคที่ใช้นวัตกรรมนับเป็นปัจจัยชี้ขาดถึงความสำเร็จ ซึ่งจีนเหนือกว่าชาติใดๆ ยกตัวอย่างเช่น ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอพของวีแช็ตเพย์ (WeChat Pay) และอาลีเพย์ (Alipay) ถูกทดลองใช้ในจีนเมื่อราวปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่หลายประเทศเริ่มใช้เช่นกัน อาทิ แอ็ปเปิ้ลเพย์ (Apple Pay) ซัมซุงเพย์ (Samsung Pay) และแอนดรอยด์เพย์ (Android Pay)
แต่วีแช็ตเพย์และอาลีเพย์ถูกยอมรับในวงกว้าง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวจีนได้รวดเร็วกว่าของประเทศอื่น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งหัวใจสำคัญเกิดขึ้นจากการยอมรับในการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวได้อย่างรวดเร็วของประชาชนชาวจีน
ในมิติของการแข่งขัน ระบบการชำระเงินออนไลน์ของจีนยังต้องต่อสู้กับบัตรวีซ่า มาสเตอร์การ์ด และผู้เล่นในธุรกิจการชำระเงินที่ไม่ใช้เงินสด แต่จีนได้เรียนรู้จากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของโกดัก (Kodak) เมื่อครั้งกล้องดิจิตัลถูกนำเสนอสู่ท้องตลาด ซึ่งในครั้งนั้น โกดักมองกิจการของตนว่าอยู่ในธุรกิจ “ฟิล์ม” แทนที่จะเป็น “รูปถ่าย”
แนวโน้มด้านดิจิตัลและการค้าปลีกยุคใหม่ (New Retail) ในจีนที่ผนวกโลกออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันได้สร้างความได้เปรียบในหลายด้าน อาทิ การเปิดโอกาสให้ระบบการชำระเงินฯ เข้าถึง รวบรวมข้อมูล ขยายบริการ และสร้างแบรนด์ที่โดนใจกับลูกค้าได้โดยตรงในเชิงลึก
อาลีเพย์และวีแชตเพย์เปลี่ยนเกมส์แข่งขันด้วยการวางตำแหน่งอยู่ในธุรกิจการเงินครบวงจร ที่ให้บริการตั้งแต่การซื้อ สินเชื่อ การลงทุน และอื่นๆ ที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และกว้างขวางมากกว่าของบัตรเครดิตที่มีอยู่
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้รุดหน้ากว่าสหรัฐฯ และหลายประเทศในโลกเสียอีก ส่งผลให้กิจการข้ามชาติที่ทำธุรกิจในจีนต่างปรับกลยุทธ์ด้านดิจิตัลโดยใช้จีนเป็นจุดเริ่มต้น แม้กระทั่งกิจการของสหรัฐฯ ก็เริ่มใช้ระบบดิจิตัลที่ก้าวล้ำในจีนก่อนในประเทศแม่เสียด้วยซ้ำ
กิจการต่างชาติจำนวนมากใช้วิธีเรียนลัดจากความคิดดีๆ ของกิจการของจีน และไปปรับใช้เป็นกลยุทธ์ระดับโลก ในปี 2019 เฟสบุ๊ก (Facebook) ก็ผนวกการชำระเงินออนไลน์เข้าไว้ในระบบแช็ต แต่เกิดขึ้นช้ากว่าที่วีแช็ต (WeChat) เริ่มใช้ถึง 5 ปี
อเมซอน (Amazon) ก็มีโมเดลการจัด “ไพรม์เดย์” (Prime Day) วันซื้อสินค้าออนไลน์ประจำปีแก่สมาชิกพิเศษที่คล้ายคลึงกับ “วันคนโสด” (Single’s Day) หรือ 11/11 ของแจ็ค หม่าที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเป็นเวลาหลายปี ขณะที่อินสตาแกรม (Instagram) ก็ได้ไอเดียเกี่ยวกับ “รีลส์” (Reels) ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถแชร์และค้นหาคลิปวิดีโอความยาวไม่เกิน 15 วินาทีจากติ๊กต็อก (TikTok) ของจีน
บางคนยังอาจมองต่อไปว่า นอกเหนือจากปัจจัยคุณภาพของนวัตกรจีน ซึ่งอุดมไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในระดับใกล้เคียงกับผู้ประกอบการในซิลิคอนวัลเลย์แล้ว นวัตกรรมของจีนยังได้รับการสนับสนุนส่งเสริมอย่างมากจากปัจจัยบทบาทภาครัฐ
การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญและการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ทำให้สัดส่วนของงบวิจัยและพัฒนาต่อจีดีพีของจีนเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งหากพิจารณาจากแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025) ด้วยแล้ว สัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต
ในกรณีของบริการชำระเงินออนไลน์ดังกล่าว รัฐบาลจีนยังเปิดไฟเขียวและอนุมัติใบอนุญาตประกอบการธนาคารให้แก่เทนเซ้นต์ (Tencent) และอาลีบาบา (Alibaba) ซึ่งทำให้บิ๊กเทคทั้งสองขยายบริการทางการเงินได้มากมายในเวลาต่อมา
และเท่านั้นไม่พอ แบงค์ชาติจีนยังได้พัฒนาและนำร่องการทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัล (Digital RMB) มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งกระแสข่าวว่า คนจีนและชาวต่างชาติบางส่วนจะได้ใช้เงินหยวนดิจิตัลกันอย่างแพร่หลายในต้นปี 2022 ซึ่งจะทำให้ “สังคมไร้เงินสด” (Cashless Society) ของจีน และอุปสงค์เงินหยวนในเวทีโลกแผ่ซ่านมากขึ้นในอนาคต (มีต่อตอนที่ 2 )
ข้อมูลจาก : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
ภาพจาก : AFP
ที่มาข้อมูล : -