เมื่อมังกรประสานมือเอกชนสู้เทรดวอร์ 2.0 (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรประสานมือเอกชนสู้เทรดวอร์ 2.0 (ตอน 1)

ปี 2025 ถือเป็นปีพิเศษในหลายส่วน ... สหรัฐฯ ได้โดนัลด์ ทรัมป์กลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีรอบ 2 ซึ่งตามมาด้วยสงครามการค้า 2.0 (Trade War 2.0) และเป็นปีสิ้นสุดแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 และนโยบาย Made in China 2025 ของจีน
ผลจากการนี้ทำให้จีนต้องเตรียมรับมือกับกระแสการกีดกันทางการค้าครั้งใหม่ด้วยการออกนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบจัดเต็ม อาทิ การเพิ่มรายได้ภาคประชาชน การดำเนินแคมเปญ “เก่าแลกใหม่” แบบจัดเต็ม และการเดินหน้าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของภาครัฐรวมทั้งการดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชน

เมื่อมังกรประสานมือเอกชนสู้เทรดวอร์ 2.0 (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สรุปข่าว

นปี 2025 จีนเผชิญกับสงครามการค้า 2.0 หลังโดนัลด์ ทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ พร้อมเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับเอกชนและต่างประเทศอย่างเต็มที่ ผู้นำจีนอย่างสี จิ้นผิง พบหารือกับผู้บริหารกิจการไฮเทคและบริษัทข้ามชาติเพื่อเน้นบทบาทภาคเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจ จีนยังจัดงานระดับนานาชาติอย่าง CDF และ BFA เพื่อผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับโลก ท่ามกลางการลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกที่ยังคงเชื่อมั่นในตลาดจีน

เราจะไปคุยเกี่ยวกับเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลังนี้กันครับ ...

สำหรับท่านผู้อ่านที่ติดตามความเคลื่อนไหวของจีน น่าจะสังเกตเห็นผู้นำและผู้บริหารระดับสูงของจีนพบปะหารือกับผู้บริหารระดับสูงของจีนและต่างชาติอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนหลัง ตั้งแต่ในระหว่างงาน China International Import Expo (CIIE) ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2024 ณ เซี่ยงไฮ้ และตามด้วยงาน China International Supply Chain Expo (CISCE) ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2024 ณ ปักกิ่ง


หลังได้ชาร์ตแบตหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษจีน สี จิ้นผิง ก็ยังสร้างความประหลาดใจเมื่อเป็นประธานในเวทีการหารือ “สุดพิเศษ” ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก กับผู้บริหารระดับสูงของกิจการไฮเทคของจีน อาทิ Huawei, Alibaba, DeepSeek, Xiaomi, BYD, CATL และ Unitree ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2025 หรือราว 2 สัปดาห์ก่อนการประชุม 2 สภาของจีน ณ มหาศาลาประชาชน ใจกลางกรุงปักกิ่ง


ผู้นำจีนได้เน้นย้ำถึงความต่อเนื่องในกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจของจีน และเรียกร้องให้ธุรกิจเอกชนของจีน “แสดงความสามารถ” และ “ศักยภาพ” แท้จริงที่มีอยู่ รวมทั้งมั่นใจในพลังของโมเดลการพัฒนาและตลาดของจีน ซึ่งจะเป็นจังหวะที่ดีในการสร้างความมั่งคั่งและโอกาสทางธุรกิจในอนาคต


หนึ่งสัปดาห์หลังการประชุม “เหลี่ยงฮุ่ย” ที่มีขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2025 รัฐบาลจีนก็จัดแถลงข่าวเปิดเผยรายละเอียดของ “แผนปฏิบัติการพิเศษ” (Special Action Plan) ที่ได้รับการชื่นชมว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาคการบริโภค และครอบคลุมอย่างรอบด้านมากที่สุดนับแต่เปิดประเทศสู่โลกภายนอก ซึ่งช่วยสร้างความกระชุ่มกระชวยแก่เศรษฐกิจจีน ราคาหุ้นของกิจการไฮเทคที่ลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์ของจีนก็ “ดีดตัว” ขึ้นแรงกันเป็นแถว


แต่ความพิเศษสุดไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น จีนยังจัดการประชุมระหว่างประเทศสำคัญอย่าง China Development Forum (CDF) ช่วงวันที่ 23-24 มีนาคม ณ กรุงปักกิ่ง ภายใต้แนวคิดหลัก “ปลดปล่อยโมเมนตัมการพัฒนาเพื่อการเติบโตที่มั่นคงของเศรษฐกิจโลก” ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทข้ามชาติราว 80 แห่งเข้าร่วมเพื่อแสวงหาโอกาสความร่วมมือใหม่ อาทิ Siemens, Apple, Samsung และ Pfizer รวมทั้ง New Development Bank


และตามด้วยการประชุม Boao Forum for Asia (BFA) ช่วงวันที่ 25-28 มีนาคม ที่เมืองปั๋วอ่าว มณฑลไฮ่หนาน ต่อเนื่องกันดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้มีแนวคิดหลักว่า “ภูมิภาคเอเซียในโลกที่เปลี่ยนแปลง: สู่อนาคตร่วมกัน” และมุ่งเน้นถึงความสำคัญของนวัตกรรม การเปิดกว้าง และการทำงานร่วมกันในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเซียและภูมิภาคอื่น ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับ CDF 2025 เป็นอย่างมาก


ทั้งนี้ BFA 2025 ได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐและเอกชน นักคิด และนักวิชาการจากนานาประเทศทั้งอดีตและปัจจุบัน ไปแชร์มุมมองและความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักคิดระหว่างประเทศ World Economic Forum (WEF) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ผู้แทนรัฐบาลและกระทรวงด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาของหลายประเทศ อาทิ จีน รัสเซีย สหราชอาณาจักร อิตาลี และมอลต้า ตลอดจนสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยของจีน และบริษัทข้ามชาติหลายรายที่บินจากกรุงปักกิ่งลงไปร่วมงาน อาทิ Deloitte China และ Roland Berger

นอกจากนี้ กระแสข่าวยังระบุว่าอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีการเสวนาในปีนี้

เท่านั้นไม่พอ ผู้นำจีนยัง “เซอร์ไพรส์” เปิดให้ผู้บริหารระดับสูงของกิจการข้ามชาติและสมาคมธุรกิจอีกกว่า 40 แห่งจากหลากหลายประเทศเข้าเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน อาทิ Cargill ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเกษตร Boeing ผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ Eli Lilly ผู้ผลิตยาที่ได้รับอนุมัติยาลดน้ำหนัก Tirzepatide และเตรียมขยายโรงงานแห่งใหม่ในซูโจว และ Qualcomm หนึ่งในเจ้าพ่อในวงการเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ที่สร้างรายได้เกือบครึ่งหนึ่งจากตลาดจีน

FedEx กิจการลอจิสติกส์ที่ประกอบธุรกิจในจีนมากว่า 40 ปี Blackstone Group กิจการบริหารสินทรัพย์ทางเลือกที่ใหญ่ที่สุดในโลก Bridgewater Associates ที่มีกองทุนป้องกันความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ Standard Chartered สถาบันการเงิน

ค่ายยุโรป อาทิ Mercedes-Benz Group ที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากตลาดจีน และ BMW ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมัน Schaeffler Group ซัพพลายเออร์และพันธมิตรในวงการยานยนต์ Siemens ที่โด่งดังจากระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรมและรถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า และ Thyssenkrupp ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอุตสาหกรรมของเยอรมนีที่นำเอาเทคโนโลยีการลดคาร์บอนมาลงทุนในการเปลี่ยนแปลงพลังงานสีเขียวของจีน

ขณะเดียวกันก็มีผู้นำในวงการยาของโลกเข้าร่วมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Pfizer ผู้ผลิตยาแห่งเยอรมนี Sanofi ผู้ผลิตยาจากดินแดนน้ำหอมที่ประกาศตั้งโรงงานในปักกิ่งด้วยมูลค่าการลงทุนมากที่สุดในจีน และAstraZeneca และ GSK ยักษ์ใหญ่ในวงการยาแห่งสหราชอาณาจักร รวมทั้ง Boehringer Ingelheim ผู้ผลิตยามนุษย์และยาสัตว์ และ Merck ผู้ผลิตยา อุปกรณ์ห้องปฏิบัติการ และสารเคมีเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของเยอรมนี

นอกจากนี้ ยังมี Ikea Group เจ้าแห่งเฟอร์นิเจอร์และของใช้ภายในบ้านที่มีสไตล์แห่งสวีเดน HSBC สถาบันการเงินของสหราชอาณาจักร ที่ซีอีโอคนล่าสุดเป็นคนแรกที่สามารถสื่อสารภาษาจีนกลางได้อย่างคล่องแคล่ว และ Maersk สายเรือรายใหญ่แห่งเดนมาร์ก

ค่ายเอเซีย อาทิ Hitachi กลุ่มบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งญี่ปุ่น และ Toyota ที่เตรียมลงทุนใหญ่ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรีสำหรับแบรนด์เล็กซัส (Lexus) ในเซี่ยงไฮ้ SK Hynix Semiconductor Inc ผู้ผลิตชิปหน่วยความจำของเกาหลีใต้ที่ลงทุนในอู๋วซี ต้าเหลียน และฉงชิ่ง และมีตลาดจีนเป็นแหล่งรายได้หลัก และ Aramco ของซาอุดิอารเบียที่ลงทุนในโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีกับรัฐวิสาหกิจและเอกชนจีน

แน่นอนว่ากิจการข้ามชาติดังกล่าวล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับโลกได้เป็นอย่างดี แต่ประเด็นสำคัญที่ท่านผู้อ่านน่าจะสนใจมากกว่าก็คือ อะไรเป็นสิ่งที่สี จิ้นผิงและผู้บริหารระดับสูงของจีนตอกย้ำ และมีประโยคเด็ดอะไรบ้างในการประชุมหารือ 2-3 ครั้งหลังนี้ และจีนจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้หรือไม่?
กำลังจะเข้าสู่ประเด็นสำคัญ แต่พื้นที่หมด ผมต้องไปขอยกยอดไปคุยกันต่อตอนหน้าครับ ...


ที่มาข้อมูล : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ที่มารูปภาพ : Getty Images

avatar

ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

แท็กบทความ

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
สงครามการค้า 2.0
สี จิ้นผิง
แผนพัฒนาเศรษฐกิจจีน
การลงทุนต่างชาติในจีน