

สรุปข่าว
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปร่วมงาน “สัมมนาและพบปะสังสรรค์” ที่ออกแบบและจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายและเป็นกันเอง แต่เต็มไปด้วยสาระและสิ่งดีๆ กับผู้ประกอบการไทย ที่สมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน และหอการค้าไทยในจีน ร่วมมือกันจัดขึ้น
งานนี้ถือเป็นกิจกรรมแรกๆ ที่องค์กรทั้งสองจัดขึ้นหลังจากรัฐบาลปลดล็อกเรื่องการสวมใส่หน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างในพื้นที่สาธารณะ
แต่ผู้จัดงานก็พยายาม “ลดความเสี่ยง” โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานไว้ที่ 80 คนเพื่อมิให้เอสแอนด์พีฮอลล์ ซึ่งเป็นพื้นที่การจัดงานหนาแน่นมากเกินไป และขอความร่วมมือให้ผู้เข้าร่วมงาน ร่วมกัน “ยกการ์ดสูง” เอาไว้ โดยขอให้ส่งผลการตรวจเอทีเคภายใน 24 ชั่วโมงก่อนเข้าร่วมงานด้วยอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ผู้บริหารของสถานที่จัดงานยังได้จัดเตรียมแอลกอฮอล์ล้างมือไว้ในหลายจุด และสั่งตรวจพนักงานบริการทุกคนก่อนเข้าร่วมงาน ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมงานพูดคุยกันอย่างสบายใจ
กิจกรรมในช่วงเช้าเป็นส่วนของการสัมมนา โดยมีท่านธนากร เสรีบุรี นายกสมาคมฯ และรองประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้เกียรติเป็นประธานการเปิดงาน และปาฐกถาในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของจีน”
ท่านธนากร เล่าผ่านประสบการณ์การทำงานในจีน 47 ปีที่ไปสัมผัสตั้งแต่ยุคแรกๆ ในฮ่องกงก่อนเข้าไปจีนแผ่นดินใหญ่ จนได้เป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของนครเซี่ยงไฮ้ว่า จีนเติบใหญ่และเปลี่ยนแปลงไปชนิด “หน้ามือเป็นหลังมือ” อย่างเหลือเชื่อ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ภาพจาก Reuters
ภายหลังการเปิดประเทศในปี 1978 จีนก็เปิดรองรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศอย่างเป็นระบบและค่อยเป็นค่อยไป โดยในระยะแรก ได้ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 4 เมืองทางตอนใต้ของจีน ได้แก่ เซินเจิ้น จูไห่ เซียะเหมิน และซัวเถา เพื่อดึงดูดการลงทุนจากเศรษฐกิจในแถบเอเซียตะวันออก และหลังจากนั้นก็ค่อยๆ ขยายพื้นที่และกระจายไปยังหัวเมืองต่างๆ ในพื้นที่อื่นของจีน
ต่อมา รัฐบาลจีนก็ดำเนินนโยบายส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และมองไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวดีและต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ในยุค 1980 รัฐบาลจีนกำหนดกลยุทธ์การสร้างมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม หัวเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานสูง ก็เดินหน้าผลักดันตัวเองไปสู่การเป็น “ศูนย์กลางแฟชั่น”
ขณะเดียวกัน ก็เห็นการขายกิจการผลิตสิ่งทอ และเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเข้าไปยังพื้นที่ตอนในของจีน เช่น อันฮุย ที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า ทั้งที่ กิจการเหล่านั้นยังทำกำไรดี
ท่านธนากร เปิดเผยว่า อันที่จริง ซีพีก็สนใจที่จะร่วมลงทุนในกิจการผลิตสิ่งทอเหล่านั้น แต่ผู้บริหารเซี่ยงไฮ้นับว่ามีวิสัยทัศน์ดี และให้ข้อคิดต่อการตัดสินใจในประเด็นดังกล่าวว่า “การขายกิจการในขณะที่ธุรกิจยังทำกำไรอยู่ จะได้ราคาดี แต่หากรอขายในช่วงที่กิจการขาดทุน ก็จะไม่ได้ราคา”
การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของรัฐบาลจีนก็เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เราเห็นการพัฒนาถนนและทางด่วน ท่าเรือ สนามบิน รถไฟความเร็วสูง และการพัฒนาชุมชนเมือง
ภาพจาก Reuters
มาถึงวันนี้ จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงรวมกว่า 40,000 กิโลเมตร และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สนามบินตามหัวเมืองก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
“20 ปีก่อนตอนที่ผมเดินทางไปนครอูลุมู่ฉี ซินเจียง ปลายสุดด้านซีกตะวันตกของจีน สนามบินที่นั่นมีขนาดพอๆ กับสนามบินหาดใหญ่เท่านั้น แต่ช่วงก่อนโควิดไม่นาน ผมมีโอกาสเดินทางไปเยือนเมืองนี้อีกครั้ง ปรากฏว่า สนามนั้นใหญ่กว่าสนามบินสุวรรณภูมิของเราเสียอีก ...”
“... จีนเตรียมพัฒนาให้อูลุมู่ฉีเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในแถบนั้น เพื่อเชื่อมโยงกับรัสเซีย และประเทศในภูมิภาคเอเซียกลาง นี่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาของจีน”
รัฐบาลจีนตั้งแต่ยุคท่านเติ้ง เสี่ยวผิง ก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เราเห็นการลดเลิกระบบอุปถัมภ์ โดยจัดระเบียบให้ทหารที่เคยช่วยรบในอดีตเข้ามาเป็นผู้บริหารในกรมกองด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นระบบ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็ให้ทุนการศึกษาต่อต่างประเทศแก่คนจีนเป็นจำนวนมาก แต่ในช่วงแรก ก็ประสบปัญหาสมองไหลอย่างมากเช่นกัน เพียงราว 1 ใน 3 ของผู้รับทุนเท่านั้นที่กลับมารับใช้ชาติ แต่ท่านเติ้ง เสี่ยวผิง ก็ตอบข้อสังเกตในประเด็นนี้ของท่านธนากร ว่า “ไม่ต้องกังวลใจ ไม่มีใครอยากไปเป็นพลเมืองชั้น 2 ในต่างประเทศหรอก หากวันหนึ่งที่จีนมีเวทีให้คนเหล่านี้แสดง เชื่อว่าคนเหล่านี้จะกลับบ้าน”
ภาพจาก Reuters
ท่านธนากร ยังมองว่า จีนได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนจากเดิมที่แต่ละมณฑลมุ่งเน้น “เชิงปริมาณ” แข่งขันกันขยายจีดีพีให้เติบโต เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับ “เชิงคุณภาพ” แข่งกันพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและความสุขภาคประชาชนที่สูงขึ้นในระยะยาว
ท่านธนากร ยังฉายภาพในอนาคตของจีนอีกว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนใน 5 ปีข้างหน้า จะเป็นการพัฒนาชุมชนเมืองในโมเดล “กลุ่มเมือง” ประชาชนจะมาอยู่ในเมืองมากขึ้น ซึ่งหมายถึงกำลังซื้อมหาศาลในแต่ละระเบียงเศรษฐกิจของจีนในอนาคต ภาคการเกษตรจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ขณะที่การลงทุนจะเน้นธุรกิจเทคโนโลยีสูงและนวัตกรรม
ต่อประเด็นว่า ทำไมซีพีได้รับการยอมรับจากรัฐบาลจีน ท่านธนากร เปิดเผยว่า ซีพีมีวันนี้ได้เพราะความมีวิสัยทัศน์และความเชื่อมั่นของท่านธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน เราจึงเห็นซีพีดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเป้าหมายในระยะยาว
อาทิ การสนับสนุนการลงทุนผลิตพรมที่เมืองซัวเถา เพื่อสร้างงานให้กลุ่มสตรี และการไม่ทิ้งจีนหลังเกิดเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
ทรัพยากรมนุษย์ของซีพี และการปฏิบัติตามนโยบายและกฎหมายจีน ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกส่วนหนึ่ง หลังเปิดโลตัสซุปเปอร์เซ็นเตอร์ที่เซี่ยงไฮ้ รัฐบาลจีนก็แจ้งนโยบายว่า ห้ามขายสินค้าต่ำกว่าทุนเพื่อดูแลผู้ผลิตและผู้ประกอบการของจีน หากโลตัสฯ ต้องการขายถูกก็จะไปกดราคาผู้ผลิต และทำให้เศรษฐกิจไม่พัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง รัฐบาลจีนไม่กลัวว่าโลตัสฯ จะขายสินค้าแพง เพราะถ้าทำอย่างนั้น รัฐบาลจีนจะส่งเสริมให้มีกิจการเข้ามาแข่งขันเอง
ในตอนท้ายสุด องค์ปาฐกยังได้ให้ข้อคิดอีกว่า “ผมเชื่อมั่นว่า จีนจะเติบโตอีกมากในอนาคต จีนจะ “บิน” แล้วนะ ช่วงโควิดเป็นเสมือนช่วงเวลาของ “การพักตัว” ซึ่งก็ยังสามารถเติบโตเป็นบวกได้ ขณะที่เศรษฐกิจของหลายประเทศชะลอตัวลงมาก หลังการคลายล็อกในยุคหลังโควิด ซึ่งคาดว่าจะเปิดประเทศในราวปลายปีนี้ เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งจะมีความต้องการในสินค้าและบริการเกิดขึ้นอีกมาก
ภาพจาก Reuters
ไทยเราจึงควรจะต้อง “รุก” ไม่ใช่ “รับ” เข้าไปเชื่อมกับจีนให้มากขึ้น ภูมิภาคทางตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมณฑลเสฉวน ยูนนาน กวางสี และกุ้ยโจว ก็ถือว่าเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ เพราะมีจำนวนประชากรราว 300 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย 3-4 เท่าตัว แถมยังมีทำเลอยู่ใกล้ไทย ซึ่งทำให้สินค้าไทยมีความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์เหนือกว่าของต่างชาติ
สินค้าไทยต้องจับกลุ่มเป้าหมายและทำตลาดให้ดี เรากำลังคิดไปขายสินค้าให้คนรวย จึงต้องใส่ใจกับเรื่องคุณภาพสินค้าและการเสริมสร้างแบรนด์ให้มาก และแม้ว่าจีนในหลายปีหลังจะเติบโตในอัตราที่ลดลง แต่ด้วยฐานเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นมามาก ทำให้การเติบโตแต่ละเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้น หมายถึงมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาล เราต้องไปกล้าที่จะออกไปเอาประโยชน์จากส่วนนี้
“หลังหมดโควิด ผมจะทำ 2 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกคือ การพาคณะผู้ประกอบการไปค้าขายในตลาดจีน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็คือ การเชิญนักธุรกิจจีนมาลงทุนที่ไทย” ท่านธนากร ให้คำมั่นไว้
โอกาสหน้า ผมจะขอพาไปเก็บตกช่วงการเสวนาที่สนุก ตื่นเต้น เร้าใจ และเต็มไปด้วยสาระดีๆ รวมทั้งการพบปะสังสรรค์ขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกันครับ ...
อ่านบทความเพิ่มเติม
สัมมนาไทย-จีนแห่งปี (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
ที่มาข้อมูล : -