
กสศ. หอการค้าไทย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ลงนามMOU โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง พัฒนากำลังคนสายอาชีพและสร้างโอกาสให้เยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พัฒนากำลังคนสายอาชีพระดับจังหวัด สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ และตลาดแรงงานในพื้นที่จังหวัดนำร่อง กำแพงเพชร ขอนแก่น และภูเก็ต
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงในปี2568 เป็นนวัตกรรมการสนับสนุนโอกาสทางการศึกษารูปแบบใหม่ ความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ กสศ. จัดทำ “บันทึกความเข้าใจความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพระดับจังหวัด” มีเป้าหมายส่งเสริมให้เยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือขาดโอกาส ได้มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพชั้นสูง สามารถเข้าสู่อาชีพได้ทันที เป็นแรงงานทักษะสูงสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการในพื้นที่ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดและลดการย้ายถิ่นของแรงงานจากภูมิลำเนา
ความร่วมมือนี้จะดำเนินการในพื้นที่ตัวแบบ 3 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ขอนแก่น และภูเก็ต สนับสนุนนักศึกษาเข้าเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรสายอาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. เป็นระยะเวลา 2 ปี จำนวน 133 ทุน 8 สาขาวิชาที่มาจากความต้องการกำลังคนสายอาชีพของสถานประกอบการ 21 แห่งในพื้นที่ 3 จังหวัด โดยพิจารณาตามที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่จังหวัด
กสศ.สถานศึกษาและสถานประกอบการจะทำงานร่วมกัน เพื่อปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดงานในแต่ละจังหวัด ร่วมวางแผนและออกแบบตลอดกระบวนการตั้งแต่การคัดเลือกนักศึกษา การพัฒนาโมดูลการเรียนการสอน การสนับสนุนทุนการศึกษาและองค์ความรู้การทำงานตามสายอาชีพ ไปจนถึงการรับนักศึกษาเข้าทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษา

สรุปข่าว
จากการศึกษาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI) ของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง พบว่า เป็นการลงทุนมีความคุ้มค่าเป็นหนึ่งเท่าตัว จึงมุ่งหวังให้การสร้างกําลังคนสายอาชีพในระดับพื้นที่จังหวัดผ่านความร่วมมือ จะทำให้การศึกษาเปลี่ยนชีวิต ขจัดความยากจนให้กับเยาวชนไทย และยังช่วยสร้างการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดได้อย่างดี
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาหอการค้าไทย กล่าวว่า โมเดลเพื่อพัฒนากำลังคนสายอาชีพระดับจังหวัดนี้ มุ่งเน้นการยกระดับการศึกษาอาชีวศึกษาให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการบูรณาการการศึกษาเข้ากับภาคเอกชนอย่างแท้จริง ลดช่องว่างระหว่างความรู้และการปฏิบัติ พร้อมสร้างแรงงานที่มีศักยภาพรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน การศึกษาไม่ไช่แค่เครื่องมือในการสร้างโอกาส แต่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอนาคตของประเทศ
หอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดตลอดจนเครือข่ายภาคเอกชนทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนและขับเคลื่อนผลักดันระบบการศึกษาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม มีการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพสร้างความสามารถในการแข่งขัน และลดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเศรษฐกิจและการศึกษา ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ของการยกระดับการศึกษาและถือเป็นหนึ่งใน Ganne Changer ของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ช่วยเพิ่มศักยภาพแรงงาน และส่งเสริมการเข้าสู่ระบบอาชีพที่มั่นคงและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนจากฐานรากให้กับประเทศ
นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า เป้าหมายในการทำงานร่วมกันทั้ง 3 ภาคส่วนจะนำไปสู่การการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญและตอบโจทย์กับนโยบายการเรียนการสอนของ สอศ. ที่จะมุ่งสอนเพื่อมีรายได้และความมั่นคงในชีวิตจะทำให้น้อง ๆ ชาวอาชีวะมีรายได้ระหว่างเรียนและมีงานทำร้อยเปอร์เซ็นต์
รายชื่อสถานศึกษาที่เข้าร่วมผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพระดับจังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น วิทยาลัยเทคนิคน้ำพอง วิทยาลัยเทคนิคชุมแพ จังหวัดกำแพงเพชร วิทยาลัยอาชีวศึกษาภักดีพณิชยการและเทคโนโลยี จังหวัดภูเก็ต วิทยาลัยเทคนิคถลาง วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต
สำหรับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กสศ. เป็นทุนให้เปล่าที่สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชน จากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ล่างของประเทศ มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน โดยยังมีประเภททุนอื่นๆ เช่น ประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล ประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ (ระยะเวลา 1 ปี) ประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล(ระยะเวลา 6 เดือน) ทุนนี้เปิดรับสมัครนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 3 หรือระดับอื่นใดเทียบเท่า ระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ – 12 มีนาคม 2568
ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม สาขา และสถานศึกษาสายอาชีพที่เปิดรับสมัครทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ได้ที่เว็บไซต์กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) www.eef.or.th
ที่มาข้อมูล : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ที่มารูปภาพ : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)