ทรัมป์กลับลำนโยบายต่างประเทศ 180 องศา ชี้ ยูเครนไม่ควรเป็นผู้เริ่มต้นสงคราม

ภายหลังการหารือร่วมกัน ของมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย ที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบียเมื่อวันอังคาร (18 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นการเจรจาระหว่างตัวแทน 2 ประเทศครั้งแรกตั้งแต่ที่รัสเซียปฏิบัติการพิเศษทางการทหารต่อยูเครนเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน 

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ก็ได้แถลงข่าวต่อบรรดาผู้สื่อข่าว ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนว่า สหรัฐฯพร้อมจะละทิ้งพันธมิตร เพื่อสานความร่วมมือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย

ทรัมป์กลับลำนโยบายต่างประเทศ 180 องศา ชี้ ยูเครนไม่ควรเป็นผู้เริ่มต้นสงคราม

สรุปข่าว

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่า ผู้นำยูเครนไม่ควรเริ่มต้นสงครามนี้ และย้ำว่าเขาจะเป็นผู้จบสงครามนี้เอง โดยคาดว่าจะมีการหารือร่วมกันระหว่างทรัมป์และปูตินภายในเดือนนี้

ในการแถลงข่าวนี้ ทรัมป์ไม่ได้กล่าวหารัสเซียว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบกับสงครามต่อชาติเพื่อนบ้าน แต่ในทางกลับกัน เขากลับชี้ว่ายูเครนเองที่มีส่วนผิดที่ทำให้รัสเซียบุก พร้อมกันนี้ก็กล่าวโจมตีประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนว่า มีส่วนต้องรับผิดชอบกับการรุกรานของมอสโก

 

ทรัมป์บอกว่า ผู้นำยูเครนมีส่วนผิดในสงครามนี้ ที่ไม่ยอมตกลงสละดินแดนไปตั้งแต่ก่อนที่มันจะบานปลาย 


"ยูเครนเองมีเวลามานานกว่า 3 ปีในการเจรจาเรื่องนี้ แต่กลับเลือกที่จะไม่ทำมันเสียที   และยูเครนเองที่ไม่ควรจะเป็นผู้เริ่มต้นสงครามนี้ และควรต้องรับข้อตกลง และผมจะเป็นผู้ทำข้อตกลงให้ยูเครนเอง" ทรัมป์ กล่าว

นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ชี้ว่า เขามีความมั่นใจอย่างมากที่จะบรรลุข้อตกลงสันติภาพได้ และเตรียมจะพบกับประธานาธิบดีปูติน อย่างเร็วภายในเดือนนี้

 

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ทรัมป์นับสนุนเสียงเรียกร้องของรัสเซียให้มีการเลือกตั้งในยูเครน ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนสันติภาพหรือไม่ เรื่องนี้ทรัมป์กล่าวอ้างโดยไม่แสดงหลักฐานว่า ความนิยมของเซเลนสกีลดลงเหลือเพียง 4% เท่านั้น และการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป ภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึก 

 

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความเห็นประชาชน จากสถาบันสังคมวิทยานานาชาติในกรุงเคียฟในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว พบว่า ประชาชนราว 52% มีความเชื่อมั่นในตัวประธานาธิบดีเซเลนสกี ลดลง 12% จากเดือนกุมภาพันธ์

 

การแสดงความเห็นของทรัมป์นี้มีขึ้น หลังจากที่ปเซเลนสกีได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ยูเครนต้องการให้สหรัฐฯ และรัสเซีย รับประกันว่า จะไม่มีการตัดสินหรือบรรลุข้อตกลงใด ๆ ลับหลังเขา

 

"จะต้องไม่มีการตัดสินใจใด ๆ เกิดขึ้น ในการยุติสงครามยูเครน โดยที่ไม่มียูเครนร่วมตัดสินใจด้วย" เซเลนสกีกล่าว

 

การแถลงข่าวของทรัมป์ในครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นการ "กลับลำนโยบายการต่างประเทศ" ครั้งใหญ่แบบ 180 องศา จากคณะทำงานชุดก่อนหน้าของโจ ไบเดน รวมถึงจากเหล่าผู้นำสหรัฐฯคนก่อน ๆ ที่ผ่านมา นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2  - ซึ่งทำให้ทั้งมิตร และศัตรูของสหรัฐฯ ล้วนต้องปรับทัศนคติ และรับมือกับผู้นำสหรัฐฯให้ได้

ส่วนผลของการหารือร่วมของรูบิโอ และลาฟรอฟ นั้น ทั้งคู่เห็นพ้องที่จะตั้งทีมงานระดับสูงขึ้นมาทำงานร่วมกันเืพ่อปูทางไปสู่การยุติความขัดแย้งในยูเครนโดยเร็วที่สุด

 

ขณะที่ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในกรุงริยาด ว่า การหารือครั้งนี้มีความคืบหน้า และเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ โดยจะมีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องดินแดน และการรับประกันความมั่นคงหลังสงคราม


ด้านลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวเมื่อวานนี้ กรณีที่ชาตินาโตบางประเทศประกาศพร้อมจะส่งกองกำลังสันติภาพไปให้กับยูเครนนั้น ลาฟรอฟชี้ว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างยิ่ง แม้ว่าพวกเขาจะปฏิบัติการภายใต้ธงอื่ก็ตาม

 

"ประธานาธิบดีปูตินแสดงความกังวลต่อการขยับขยายของนาโตมาตลอด และการที่จะให้ยูเครนเป็นสมาชิก ก็นับเป็นภัยคุกคามตรงต่อรัสเซีย และต่ออธิปไตยของเรา"  ลาฟรอฟกล่าว 

 

ดังนั้น ไม่ว่าจะด้วยธงนาโต, ธงสหภาพยุโรป หรือธงประเทศใดก็ตาม ก็ไม่ได้มีความหมาย และเรารับนี้ไม่ได้


อ้างอิงข้อมูล

https://www.nytimes.com/2025/02/18/us/politics/trump-russia-putin.html

https://www.aljazeera.com/news/2025/2/19/trump-says-he-will-probably-meet-putin-this-month-hits-out-at-ukraine

ที่มาข้อมูล : Reuters, Aljazeera, NYTimes

ที่มารูปภาพ : Reuters