วิสัยทัศน์คนรุ่นใหม่ 7 ชาติ BIMSTEC ฉายโอกาสอนาคต

BIMSTEC Young Gen Forum: Where the Future Meets ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักข่าว TNN World เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2025 กลายเป็นเวทีสำคัญที่สะท้อนพลังของ “อนาคต” ผ่านวิสัยทัศน์ของนักธุรกิจรุ่นใหม่จาก 7 ประเทศสมาชิก BIMSTEC ซึ่งต่างมาร่วมเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับการเติบโตที่ยั่งยืน นวัตกรรม และความร่วมมือข้ามพรมแดน

TNN World ประมวลสรุปข้อคิดสำคัญจากวิทยากรคนรุ่นใหม่บนเวที ผ่านบทความพิเศษ Editor’s Pick นี้


“เทคซอสไม่ใช่แค่สื่อ แต่คือระบบนิเวศเทคโนโลยี” – อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด ประเทศไทย

ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Techsauce กล่าวอย่างชัดเจนว่า “เทคซอส” ไม่ใช่แค่สื่อเทคโนโลยี แต่เป็น “ผู้สร้างระบบนิเวศ” ที่สนับสนุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีอย่างครบวงจร ตั้งแต่สตาร์ทอัพ นักลงทุน ไปจนถึงภาครัฐและสถาบันการศึกษา 

Techsauce มีเป้าหมายผลักดันนวัตกรรมในไทยและในกลุ่ม BIMSTEC ให้เติบโตทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เน้นย้ำว่า ความร่วมมือไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจาก “การเชื่อมโยงที่แข็งแกร่ง” ทั้งในเชิงกายภาพและดิจิทัล

ด้วยเครือข่ายที่เชื่อมโยงกว่า 40 ประเทศทั่วโลก Techsauce ตั้งเป้าช่วยเหลือสตาร์ทอัพ BIMSTEC ไม่เพียงในไทย แต่ทั่วทั้งภูมิภาค ด้วยแนวคิด GRIT หรือความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ ซึ่งเธอเชื่อว่าเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส และขับเคลื่อนผู้ประกอบการฝ่าวิกฤตการณ์ระดับโลกได้ในระยะยาว


“เราต้องสร้างศูนย์กลางวิทยาศาสตร์ร่วมกัน” – Dr. Wasantha Lankathilake นักวิทยาศาสตร์อาวุโส สถาบันนาโนเทคโนโลยีศรีลังกา (SLINTEC)

นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจาก SLINTEC ย้ำถึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในแต่ละประเทศ BIMSTEC ซึ่งต่างก็มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ศรีลังกาในด้านนาโนเทคโนโลยี อินเดียในด้านไอที และไทยในด้านเกษตรเทคโนโลยี 

Dr. Wasantha เสนอแนวคิดจัดตั้ง “ศูนย์กลางบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วม” ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลของ BIMSTEC เพื่อเป็นเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมระดับภูมิภาค

นอกจากโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรวิจัยแล้ว Dr. Wasantha เชื่อว่าเรื่องราวเบื้องหลังผลิตภัณฑ์คือ “ทรัพย์สิน” ที่ทรงพลังของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทุกการคิดค้นต้องตั้งอยู่บนเอกลักษณ์เฉพาะตัวของภูมิภาค เพราะนั่นคือสิ่งที่จะสร้างจุดขายอย่างแท้จริงให้กับ BIMSTEC บนเวทีโลก

วิสัยทัศน์คนรุ่นใหม่ 7 ชาติ BIMSTEC ฉายโอกาสอนาคต

สรุปข่าว

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก และบทบาทที่เพิ่มขึ้นของตลาดเกิดใหม่และประเทศโลกใต้ จึงทำให้ BIMSTEC หรือ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ กลายเป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการเป็นสะพานเชื่อมภูมิภาคเอเชียใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน

“ขยะไม่ใช่ขยะ หากเราคิดใหม่” – Fahim Uddin Shuvo กรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท Garbageman ศรีลังกา

ผู้ก่อตั้งบริษัท Garbageman แห่งบังกลาเทศเน้นว่า ธรรมชาติไม่มีสิ่งใดเป็นขยะโดยสมบูรณ์ ขยะทุกชิ้นล้วนเป็นทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหากเราเข้าใจวัฏจักรของมัน ด้วยแนวคิดนี้ จึงได้สร้างธุรกิจที่เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นโอกาส พร้อมส่งต่อผลกระทบเชิงบวกทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

Fahim ยังบอกว่า ความยั่งยืนเริ่มต้นจากคำถามง่าย ๆ ว่า “ทำไมเราถึงทำ” แล้วตามมาด้วยความต่อเนื่อง ความร่วมมือ และชุดความคิดที่เติบโต 

Fahim เน้นว่าเส้นทางของผู้ประกอบการนั้นไม่ง่ายเลย แต่หากเราเชื่อมั่นในเป้าหมาย และเปิดใจร่วมมือกับผู้เล่นในภูมิภาค BIMSTEC ระบบหมุนเวียนนี้จะกลายเป็น “พลัง” ใหม่ของเศรษฐกิจสีเขียวในอนาคต


“ธุรกิจที่นำโดยผู้หญิง คือการสร้างพื้นที่ใหม่ให้เมียนมา” – Dr. Yin Min Han รองประธานสมาคมผู้ประกอบการรุ่นใหม่เมียนมา (MYEA)

นักธุรกิจหญิงแถวหน้าของเมียนมาเล่าว่า เธอมุ่งสร้างโครงข่ายผู้ประกอบการหญิงในประเทศที่ยังมีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ โดยส่งเสริมธุรกิจของผู้หญิงในภาคก่อสร้าง การค้า และเภสัชกรรม พร้อมจับมืออินฟลูเอนเซอร์หญิงเพื่อขยายอิทธิพลของผู้หญิงในเศรษฐกิจระดับชาติ

Dr. Yin Min Han ชี้ว่า แม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดก็ยังมีโอกาสซ่อนอยู่ หากเราคิดในแง่บวกและมองเห็นวิกฤตเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง 

เธอเชื่อว่า BIMSTEC สามารถเป็นเวทีสำคัญในการเสริมพลังให้ผู้หญิงในธุรกิจ และเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับผู้ประกอบการจากหลากหลายภูมิหลังทั่วภูมิภาค

“เมืองแห่งอนาคตต้องมีสุขภาวะและโอกาสทางธุรกิจ” – Sanjok Biswakarma, Promoter of Serkar Dairy ภูฏาน

ผู้ก่อตั้ง Serkar Dairy จากภูฏาน เน้นว่าแนวคิด “ความสุขมวลรวม” ของประเทศตนควรถูกผสานเข้ากับการวางผังเมืองและเศรษฐกิจของภูมิภาค BIMSTEC เพื่อสร้างเมืองแห่งอนาคตที่ไม่เพียงเชื่อมโยงผู้คนและเทคโนโลยี แต่ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง

Sanjok เชื่อว่า BIMSTEC สามารถเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ผ่านเมืองอัจฉริยะที่รองรับธุรกิจนวัตกรรมและการเกษตรคุณภาพ 

Sanjok ชี้ว่า ความเข้าใจใน “สิ่งที่คุณอยากทำ” อย่างลึกซึ้ง คือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง


“มากกว่าห้องพัก คือศักยภาพของทั้งภูมิภาค” – Ashlesha Karki, รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร Hotel Mechi Crown เนปาล

รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร Hotel Mechi Crown เนปาล เป็นนักธุรกิจหญิงผู้เปี่ยมวิสัยทัศน์ ถ่ายทอดเรื่องราวเบื้องหลังธุรกิจครอบครัวที่พัฒนาเป็นโรงแรม 5 ดาวแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกของเนปาล และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญหลังวิกฤตโควิด-19 

เธอกล่าวว่า ความท้าทายครั้งนั้นไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่คือโอกาสในการนิยามใหม่ว่า “โรงแรม” จะมีบทบาทอย่างไรในบริบทของประเทศและภูมิภาค เธอเน้นว่า ธุรกิจบริการควรเป็นพื้นที่ที่ขับเคลื่อนด้วยผู้คนและความร่วมมือ ไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐานหรือเทคโนโลยี

Ashlesha เสนอว่า หากประเทศสมาชิก BIMSTEC ใช้พลังของประชาชนเป็นแกนกลาง ไม่ใช่แค่เชื่อมต่อผ่านระบบราชการหรือการค้าขาย ความร่วมมือระยะยาวจะเกิดขึ้นได้จริง เธอกล่าวอย่างชัดเจนว่า “เราจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วย” ซึ่งเป็นรากฐานที่ยั่งยืนและพาให้ทั้งภูมิภาคเติบโตไปพร้อมกัน คำกล่าวของเธอสะท้อนพลังของมุมมองแบบองค์รวม ที่มองความสำเร็จทางธุรกิจควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในฐานะหัวใจของการพัฒนา


“อย่าลอกเส้นทางใคร แต่จงร่วมพัฒนาอย่างก้าวกระโดด” – Pranav Bajaj กรรมการบริหารบริษัท Medulance Heathcare Private Limited อินเดีย  

ผู้ร่วมก่อตั้ง Medulance Healthcare แพลตฟอร์มระบบเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินด้วย GPS รายแรกของอินเดีย กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า ความพยายามเดินตามเส้นทางคนอื่นคือกับดักที่ไม่จำเป็น 

Pranav เน้นย้ำว่า จุดแข็งของภูมิภาค BIMSTEC คือความสามารถในการเรียนรู้ร่วมกันจากปัญหาที่คล้ายคลึงกันในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะด้านสาธารณสุข โลจิสติกส์ หรือโครงสร้างพื้นฐาน “เราควรแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และเราก็พัฒนาได้รวดเร็วกว่าโลกกำลังพัฒนาอื่น ๆ ด้วยซ้ำ” เขากล่าว

Pranav มองว่า ภูมิภาคนี้มีศักยภาพในการ “ก้าวกระโดด” ได้อย่างแท้จริง ไม่จำเป็นต้องผ่านเส้นทางค่อยเป็นค่อยไปแบบโลกตะวันตก แต่สามารถอาศัยเทคโนโลยี การสื่อสาร และการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างเร่งด่วนได้ หากแต่ต้องมีความกล้าคิด กล้าทำ และกล้าแตกต่าง เสียงสะท้อนของเขาจึงไม่ใช่แค่กำลังใจสำหรับผู้ประกอบการ แต่ยังเป็นแนวทางที่ชัดเจนสำหรับนโยบายในระดับภูมิภาค


ทั้งหมดนี้คือวิสัยทัศน์จากนักธุรกิจรุ่นใหม่ทั้ง 7 คน จาก 7 ประเทศสมาชิก BIMSTEC ซึ่งได้ร่วมแลกเปลี่ยนในเวที BIMSTEC Young Gen Forum 2025 เสียงสะท้อนของพวกเขาไม่ใช่แค่แรงบันดาลใจ แต่คือคำเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่ในภูมิภาคอ่าวเบงกอลกล้าคิดต่าง กล้าร่วมมือ และกล้าสร้างอนาคตใหม่บนรากฐานของความเข้าใจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในวันที่ภูมิภาคนี้เผชิญความท้าทายร่วมกัน บางทีคำตอบอาจไม่ได้อยู่ที่นโยบายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบกับวิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่ ที่กล้าฝันให้ไกล และกล้าสร้างให้เป็นจริง


เรื่อง : ณัฐนนท์ เจริญชัย

ภาพ : กระทรวงการต่างประเทศ

ที่มาข้อมูล : BIMSTEC

ที่มารูปภาพ : กระทรวงการต่างประเทศ

avatar

ฑิตยา เที่ยงกมล