Editor’s Pick: ‘ครั้งแรกในไทย พบไมโครพลาสติก ในน้ำนมแม่’

◾️◾️◾️

🔴 พบไมโครพลาสติกใน 38.98% ในผู้หญิงไทยหลังคลอด 59 คน 

งานวิจัยล่าสุดจาก Journal of Clinical Medicine โดยนักวิจัยคนไทย เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2024 เรื่อง ‘การตรวจจับไมโครพลาสติกในน้ำนมแม่และความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในน้ำนมแม่’ (Detection of Microplastics in Human Breast Milk and Its Association with Changes in Human Milk Bacterial Microbiota) พบไมโครพลาสติกใน 38.98% หรือ 23 ตัวอย่าง จาก 59 ตัวอย่างในผู้หญิงไทยหลังคลอด 59 คน โดยกลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 28.13 ปี 

การสำรวจใช้การสเปกโตรสโกปีแบบรามาน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ตรวจสอบโครงสร้างของโมเลกุล พบโพลิโพรพีลีน (PP), โพลีเอทิลีน (PE) และพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) เป็นพลาสติกที่พบมากที่สุด มีความแตกต่างที่สำคัญในสุขอนามัยของมารดาและภาวะแทรกซ้อนระหว่างกลุ่มที่ตรวจพบไมโครพลาสติกและกลุ่มที่ไม่ตรวจพบ

◾️◾️◾️

🔴 แล้วไมโครพลาสติกคืออะไร ทำไมถึงมาอยู่ในน้ำนมแม่ได้? 

ไมโครพลาสติก คือ เศษชิ้นส่วนของพลาสติกที่ขนาดเล็กมาก ๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรจนถึง 1 ไมโครเมตร อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ส่วนนาโนพลาสติกก็เล็กกว่า 1 ไมโครเมตร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เมื่อนาโนพลาสติกเข้าสู่ร่างกายมนุษย์แล้ว เป็นสิ่งที่น่าห่วงที่สุด มันสามารถเคลื่อนตัวผ่านเนื้อเยื่อ ผ่านเซลล์ เข้าสู่ปอด ตับ เส้นเลือด นมแม่ รก ปัสสาวะ และอุจจาระได้ 

แล้วพบไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกจากที่ใดได้บ้าง?

ทั้งไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกสามารถพบได้ทุกที่ ตั้งแต่ในอากาศ เมฆ แม่น้ำ ทะเล หิมะ ฝน มันอาจปนเปื้อนในแหล่งน้ำดิบ น้ำผิวดิน น้ำบาดาล ซึ่งจากธรรมชาติก็เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้โดยการรับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ น้ำประปา น้ำบรรจุขวด หรือแม้แต่การสูดอากาศ

Editor’s Pick: ‘ครั้งแรกในไทย พบไมโครพลาสติก ในน้ำนมแม่’

สรุปข่าว

งานวิจัยชิ้นนี้เปนของคนไทย พบไมโครพลาสติกในน้ำนมแม่เป็นครั้งแรก โดยพบโพลิโพรพีลีน (PP), โพลีเอทิลีน (PE) และพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) มากที่สุด

◾️◾️◾️

🔴 โพลิโพรพีลีน, โพลีเอทิลีน และพอลิไวนิลคลอไรด์ คืออะไร?

โพลิโพรพีลีน คือ พลาสติกที่นำมาทำบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ถูกรับรองว่ามันเป็น food grade ซึ่งสิ่งที่เราใช้ในชีวิตประจำวันก็เป็นพวกถุงร้อน แก้วกาแฟร้อน จานชามที่เข้าไมโครเวฟได้ หรือแม้แต่ถ้วยของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 

ส่วนโพลีเอทิลีน คือ พวกขวดน้ำ ฝาขวดน้ำ ของเล่นเด็กต่าง ๆ รวมไปถึงแก้วพลาสติก ฟิล์มของขวดบรรจุภัณฑ์ กล่องเก็บอาหาร ขวดน้ำยาต่าง ๆ และเก้าอี้หรือโต๊ะพลาสติกที่ใช้กันเป็นจำนวนมาก

และพอลิไวนิลคลอไรด์ คือ พวกซองยา ฟิล์มถนอมอาหาร เสื้อกันฝน บัตรเครดิต สายยาง ม่านห้องน้ำ เป็นต้น เรียกได้ว่าเจอได้ทุกที่

◾️◾️◾️

🔴 ไมโครพลาสติกไม่ใช่เรื่องใหม่

เรื่องไมโครพลาสติกไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็พบไมโครพลาสติกทั่วร่างกายของมนุษย์ ลึกลงไปถึงขั้นเนื้อเยื่อทั่วร่างกายแล้ว และการพบไมโครพลาสติกในน้ำนมแม่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ต่างประเทศค้นพบก่อนหน้านี้แล้ว

จากงานวิจัยอีกชิ้นยังพบอีกว่า ในน้ำขวด 1 ลิตรที่เราซื้อมาดื่มกัน พบอนุภาคของพลาสติกมากถึง 240,000 ชิ้น จากพลาสติก 7 ชนิด ซึ่ง 90% เป็นนาโนพลาสติก 

ปริมาณพลาสติกที่มนุษย์อาจบริโภคต่อสัปดาห์ อาจมีปริมาณเฉลี่ยมากถึง 5 กรัม หรือเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบเลยทีเดียว ลองคิดดูว่าถ้าร่างกายเรามีบัตรเครดิต 1 ใบอยู่ในร่างกายจะอันตรายมากแค่ไหน

◾️◾️◾️

🔴 หลีกเลี่ยงได้อย่างไรบ้าง?

แน่นอนว่าเราหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกไม่ได้อยู่แล้ว เพราะพลาสติกก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน แต่เราอาจหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกให้ได้มากที่สุด อาจเริ่มจากหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในกล่องพลาสติกที่ต้องเข้าไมโครเวฟ ใช้แก้วหรือภาชนะที่ทำมาจากแก้วหรือสเตนเลส ดื่มน้ำสะอาดแบบที่ไม่มีไมโครพลาสติก และลดการใช้พลาสติกแบบใช้ทีเดียวแล้วทิ้ง เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด หรือหลอดพลาสติก เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

ที่มาข้อมูล : https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/39064070/

ที่มารูปภาพ : Canva