ไขปริศนา 137 ปี รู้ตัวแล้วใครคือ “แจ็ค เดอะ ริปเปอร์”

แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ คือใคร ?

แจ็ก เดอะ ริปเปอร์ เป็นชื่อเรียกฆาตกรต่อเนื่องที่ก่อเหตุในพื้นที่ไวต์ชาเปล ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ เมื่อปี 1888 จากหลักฐานที่มีเชื่อว่า เขาก่อเหตุฆาตกรรมหญิงโสเภณี 5 ราย ได้แก่ แมรี แอนน์ นิโคลส์ วัย 42 ปี, แอนนี แชปแมน วัย 47 ปี, เอลิซาเบธ สไตรด วัย 44 ปี, แคทเธอรีน เอ็ดโดว์สัน วัย 43 ปี และแมรี เจน เคลลี วัย 25 ปี ทั้งหมดถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยม มีทั้งการชำแหละร่างกาย ถูกเชือดคอ และควักอวัยวะ ทำให้ตำรวจเชื่อว่า พวกเธอถูกคนคนเดียวกันสังหาร แต่ในท้ายที่สุดตำรวจก็ไม่สามารถจับตัวผู้ก่อเหตุที่เรียกกันว่า “แจ็ก เดอะ ริปเปอร์” ได้ และตัวตนของฆาตกรต่อเนื่องผู้นี้ เป็นปริศนามากว่า 137 ปี

ไขปริศนา 137 ปี รู้ตัวแล้วใครคือ “แจ็ค เดอะ ริปเปอร์”

สรุปข่าว

จากการตรวจดีเอ็นเอบนผ้าคลุมไหล่ของหนึ่งในเหยื่อ พบว่าตรงกับทายาทของ แอรอน คอสมินสกี ช่างตัดผม หนึ่งในผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแจ็ก เดอะ ริปเปอร์ จึงคาดว่า เขาคือแจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ตัวจริง

จากผู้ต้องสงสัยเบอร์ 1 สู่ฆาตกรตัวจริง ?

ผู้ต้องสงสัยที่เชื่อว่าเป็นแจ็ก เดอะ ริปเปอร์ มีหลายคน แต่จากการวิเคราะห์ และหลักฐานเท่าที่มี “แอรอน คอสมินสกี” ดูจะเป็นผู้ที่มีความเป็นไปได้สูงสุด เพราะเขาอาศัยอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุในย่านไวต์ชาเปล จึงรู้จักย่านนี้เป็นอย่างดี และล่าสุดรัสเซล เอ็ดเวิร์ด นักเขียนชาวอังกฤษ ได้ซื้อผ้าคลุมไหล่ของแคทเธอรีน เอ็ดโดว์สัน เหยื่อรายหนึ่ง ซึ่งมีเลือดและน้ำอสุจิติดอยู่ เมื่อปี 2007 และหลายปีต่อมาผ้าคลุมไหล่ผืนนี้ถูกนำไปตรวจหาดีเอ็นเอ และจากการตรวจสอบอย่างละเอียดนานถึง 4 ปี ก็พบว่า มีดีเอ็นเอของคนสองคน ดีเอ็นเอแรกตรงกับทายาทของเหยื่อ และอีกตัวอย่างตรงกับทายาทของแอรอน คอสมินสกี 

แอรอน คอสมินสกี คือใคร?

คอสมินสกีเกิดที่โปแลนด์ และย้ายไปอังกฤษกับครอบครัวตั้งแต่ปี 1881 และได้เริ่มทำงานเป็นช่างตัดผมในเขตไวต์ชาเปล โดยเขามีประวัติการป่วยทางจิตตั้งแต่ปี 1885 มีทั้งอาการหวาดระแวง และพฤติกรรมรุนแรง ต่อมาในปี 1890 ครอบครัวได้ส่งเขาไปรักษาอาการทางจิต เพราะมีการใช้มีดทำร้ายพี่น้องผู้หญิงของตัวเอง ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตด้วยภาวะเนื้อตายเน่าในปี 1919

หลักฐานนี้เชื่อได้ 100% ?

แม้จะมีหลักฐานจาก DNA ที่ตรงกับทายาทในปัจจุบันของคอสมินสกี แต่เนื่องจากเป็นเรื่องตั้งแต่ 137 ปีที่แล้ว ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า หลักฐานที่เป็นผ้าคลุมไหล่นั้น เชื่อถือได้จริงใช่หรือไม่ 

ฮันซี ไวส์เซนสไตเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดีเอ็นเอไมโตคอนเดรียที่เมืองอินส์บรุค เป็นหนึ่งในผู้ที่ยังไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้นัก เขาไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ดีเอ็นเอไมโตคอนเดรีย ซึ่งเขากล่าวว่า มันสามารถแสดงให้เห็นได้อย่างน่าเชื่อถือได้แค่ว่า บุคคลหรือตัวอย่างดีเอ็นเอ 2 ตัวอย่างไม่มีความเกี่ยวข้องกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ดีเอ็นเอไมโตคอนเดรียจากผ้าคลุมไหล่อาจมาจากคอสมินสกี แต่ก็อาจมาจากผู้คนนับพันที่อาศัยอยู่ในลอนดอนในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน

ส่วนนักวิจารณ์คนอื่น ๆ ระบุว่า ไม่มีหลักฐานว่าผ้าคลุมไหล่เคยอยู่ที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ ผ้าคลุมไหล่ยังอาจปนเปื้อนมาหลายปีแล้วด้วย แม้ว่ารัสเซล เอ็ดเวิร์ด นักเขียนที่สนใจเรื่องแจ็ก เดอะ ริปเปอร์ ระบุว่า ได้ใช้เวลาหลายปีในการตรวจสอบผ้าคลุมไหล่ ไม่ต้องห่วงว่าจะมีเรื่องการปนเปื้อน

แท็กบทความ

jack the ripper
แจ็กเดอะริปเปอร์
ฆาตกรต่อเนื่อง
aaron kosminski
แจ๊คเดอะริปเปอร์
แจ็คเดอะริปเปอร์