

สรุปข่าว
- รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจําปี 2024 ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่ามีคนจากมากกว่า 100 ประเทศ อาทิ กานา ไนจีเรีย ยูกันดา เคนยา เปรู บราซิล และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมไปถึงประเทศอื่น ๆ ที่มีอัตราการว่างงานสูงจะถูกส่งตัวมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านขบวนการค้ามนุษย์ เพื่อให้มาเข้าร่วมขบวนการฉ้อโกงที่มีศูนย์บัญชาการเป็นเหมือน “โรงงาน” ที่จ้องจะเล่นงานคุณได้ทุกเมื่อ
- ผู้ที่ถูกค้ามนุษย์มาที่โรงงานนี้ หรือ อาจเรียกได้ว่าตอนนี้พวกเขาคือ “พนักงาน” ส่วนใหญ่เป็นคน “หนุ่มสาว” ที่มีความชื่นชอบหรือเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี รวมไปถึง “เด็กจบใหม่” ที่มีดีกรีสำเร็จการศึกษาด้านเทคโนโลยีก็เป็นกลุ่มที่มักจะถูกคัดเลือกให้เข้ามาทำงานเช่นเดียวกัน
- -ยุคนี้หลายคนพูดกันว่า “คอนเนคชัน” เป็นสิ่งสำคัญ
- อาจจะจริงและใช้ได้กับขบวนการนี้ด้วย เพราะแผนก HR ของโรงงานฉ้อโกงได้ทำงานร่วมกับคอนเนคชันที่พวกเขามี นั่นก็คือแก๊งค้ามนุษย์กลุ่มต่าง ๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ทำให้สามารถคัดคนจำนวนมากเข้ามาทำงานผ่านการค้ามนุษย์ได้ ยิ่งกว่านั้นแก๊งค้ามนุษย์ยังคอยคัดเลือกคนให้เหมาะกับตำแหน่งหน้าที่ด้วย หรือพูดง่าย ๆ ว่ามันคือ Put the right man on the right job
- - ทักษะด้าน “ภาษา” ก็สำคัญในวงการมิจฉาชีพ
- สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ เผยว่าแนวทางคัดคนเข้าทำงานในโรงงานฉ้อโกงมีความต้องการที่เปลี่ยนไป ผู้ที่มีความสามารถด้านภาษากลับเริ่มเป็นที่ต้องการแซงหน้าผู้ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการพัฒนาโปรแกรมได้ไปแล้ว
- แต่ก็ไม่ได้ทิ้งคนที่เก่งเทคโนโลยี เพราะตลาดงานมิจฉาชีพยังคงพยายามที่จะเข้าถึงบุคคลที่มีทักษะด้าน IT เช่น นักวิเคราะห์ข้อมูล นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักการตลาดดิจิทัล รวมไปถึงผู้จัดการโซเชียลมีเดีย เพื่อช่วยให้แผนหลอกลวงของพวกเขาดู “เป็นมืออาชีพ” และตามทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงอาจเรียกได้ว่าถ้าโลกมีเทคโนโลยีช่วยกำจัดมิจฉาชีพ มิจฉาชีพเองก็จะเอาเทคโนโลยีที่ล้ำกว่ามาสู้จนแผนลวงสำเร็จให้ได้ อย่าง ChatGPT ก็หนีไม่พ้น เพราะเมื่อคนทั่วไปใช้ได้ มิจฉาชีพก็ใช้เหมือนกัน
- ในขณะที่องค์การตํารวจสากล (INTERPOL) พบข้อมูลว่ากลุ่มมิจฉาชีพเริ่มเปลี่ยนคำที่ใช้ในประกาศรับสมัครงานปลอมจากที่เคยใช้ว่ารับสมัครพนักงานรับโทรศัพท์ หรือ คอลเซ็นเตอร์ เป็นการใช้คำที่ดูหรูและน่าเชื่อถือมากขึ้นอย่างการรับสมัคร “พนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศ” หรือแม้แต่ตำแหน่ง “ผู้บริหารฝ่ายขายดิจิทัล” ก็ถูกนำมาใช้ในประกาศรับสมัครงานปลอมแล้วเพียงแค่พลิกแพลงการใช้คำนิดหน่อยดูเป็นตำแหน่งในบริษัทใหญ่ขึ้นมาทันที
- - เรื่องเล่าจากอดีตมิจฉาชีพ
- ซูซาน อดีตพนักงานมิจฉาชีพเล่าว่า เธอเคยถูกพี่สาวหลอกให้ไปเมียนมาเพราะสัญญาไว้ว่าจะให้เข้ามาช่วยทำงานในตำแหน่งพนักงานการตลาดที่บริษัท แต่กลายเป็นวันเธอต้องไปเป็นมิจฉาชีพแทนแบบเลี่ยงไม่ได้อีกทั้งเธอยังถูกบังคับให้ทำงานจ่ายหนี้แทนพี่สาวที่หลบหนีไปด้วย ซูซานเล่าว่าหน้าที่ของเธอคือการแสร้งทำเป็นสาวไฮโซจากย่านบรูคลินในนครนิวยอร์กที่เป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวและชื่นชอบการช๊อปปิงแม้ว่าในความเป็นจริงเธอจะถูกขังในโรงงานมิจฉาชีพก็ตาม ซึ่งหัวหน้ามิจฉาชีพของเธอได้ให้รูปปลอมมาใช้สำหรับสร้างตัวตนและแอคเคาน์ในอินสตาแกรม
- ซูซานจะต้องคอยติดต่อไปหาชายโสด หรือ เป็นหม่ายในสหรัฐฯ กลุ่มเป้าหมายที่เธอได้รับมอบหมายเพื่อหลอกลวงในลักษณะ “เลิฟ สแกม” คือแกล้งทำเป็นรักหรือเข้าไปสร้างความสัมพันธ์จนเหยื่อรู้สึกว่าเธอคือเพื่อคู่ใจ แม้ต้องใช้เวลาเพื่อให้แผนสำเร็จแต่ผลที่ได้ก็มักจะเป็นเงินก้อนใหญ่ที่หลอกมาจากช่องโหว่ในความเชื่อใจของมนุษย์
- โดยหากเหยื่อเริ่มตายใจและต้องการพูดคุยแบบวิดีโอคอล ทีมมิจฉาชีพจะมี “นางแบบ” ที่ก็เป็นผู้หญิงที่ถูกค้านมนุษย์มาเหมือนกันให้มารับบทหน้ากล้องคุยกับเหยื่อด้วย ถ้าเหยื่อไหวตัวทันก่อนที่เธอจะหลอกลวงสำเร็จ เธอจะถูกเจ้านายทุบตีด้วยท่อโลหะจนเคยได้รับบาดเจ็บหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถบอกใครได้แม้แต่หมอว่าเธอบาดเจ็บเพราะอะไรหรือมีเหตุอะไรที่ทำให้เธอตกอยู่ในสภาพแบบนี้
ที่มาข้อมูล : -