
นายสุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด เปิดเผยกับ TNN Wealth ถึงประเด็นการกำหนดมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐอเมริกา ที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐ เนื่องจากไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36%

สรุปข่าว
โดยประเด็นดังกล่าวนายสุวัฒน์ระบุว่า ทางรัฐบาลไทยควรที่จะเร่งเจรจากับทางสหรัฐอเมริกา โดยเน้นไปที่การปกป้องสินค้า "ไทยแท้" เป็นลำดับแรก เช่น สินค้าเกษตร อาหาร เป็นต้น เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐฯทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับสินค้าในกลุ่มอื่น ๆ น่าจะมีความเป็นไปได้ในการขอบรรเทาเรื่องมาตรการภาษี
ซึ่งเหตุผลที่รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องปกป้องสินค้ากลุ่มนี้เป็นลำดับแรก เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้จะกระทบกับเกษตรกร และผู้ประกอบการไทยโดยตรง ต่างจากสินค้าส่งออกในกลุ่มอื่น ๆ ที่ใช้ไทยเป็นเพียงฐานการผลิต หรือประกอบโดยบริษัทข้ามชาติ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ส่วนประกอบเครื่องจักร เป็นต้น
เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้ นอกเหนือจากมูลค่าการส่งออกที่มีสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับสินค้าไทย ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคในการเจรจามาตรการภาษี และที่สำคัญสินค้าในกลุ่มนี้หากสามารถเจรจาภาษีได้ ก็ไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับไทยเท่าไหร่นัก รวมถึงสินค้าเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีบริษัทแม่ในต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่บริษัทแม่นั้นจะต้องเป็นผู้นำในการเจรจาเพื่อผลประโยชน์ของธรุกิจ ส่วนทางการไทยอาจจะช่วยส่งเสริมในบางประเด็น หรือสนับสนุนได้ตามความเหมาะสม
และอีกหนึ่งประเด็นที่รัฐบาลไทยจะต้องระมัดระวังในการเจรจากับสหรัฐฯ คือในเรื่องของข้อเสนอ ข้อแลกเปลี่ยน หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จะต้องวางกรอบเจรจาอย่างรอบคอบ ครอบคลุมในทุกมิติ จะมุ่งหวังเพียงมิติใดมิติหนึ่งไม่ได้ โดยยกตัวอย่างจากประเทศเวียดนาม ที่มีการเสนอนำเข้าสินค้าสหรัฐฯเพิ่มเติมเพื่อลดมูลค่าการเกินดุลการค้าลง รวมถึงเสนอลดภาษีนำเข้าให้กับสหรัฐเหลือ 0 แต่สหรัฐฯก็ไม่ได้รับข้อเสนอดังกล่าว
ในขณะที่ความตึงเครียดทางด้านภาษีระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่ส่อแววทวีความรุนแรงสูงขึ้นโดยล่าสุด สหรัฐฯอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเพิกถอนหุ้นบริษัทจดทะเบียนของจีนออกจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ โดยกฎหมายของสหรัฐฯ อนุญาตให้ถอนหุ้นออกจากตลาดได้ หากบริษัทจีนไม่อนุญาตให้ตรวจสอบบัญชี และความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีหุ้นของบริษัทจีนมากกว่า 300 แห่ง ที่จดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา (Alibaba), ซิโนเปค (Sinopec), เจดีดอทคอม (JD.com) และเน็ตอีส (NetEase) ซึ่งการเพิกถอนหุ้นจีนออกจากตลาดสหรัฐฯ แน่นอนว่าจะกระทบต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯอย่างแน่นอน
จากกรณีดังกล่าวนายสุวัฒน์มองว่าโอกาสของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน กำลังจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งอื่นที่นอกเหนือจากเรื่องภาษีศุลกากร โดยการกดดันจากสหรัฐฯที่มีต่อจีนในเรื่องของภาษีอาจจะไม่สามารถกดดันไปได้มากกว่านี้เนื่องจากภาษีที่ถูกปรับขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่มีประโยชน์ จึงจำเป็นต้องกดดันในเรื่องของธุรกิจกับบริษัทข้ามชาติของจีนแทน
ซึ่งในประเด็นนี้เชื่อว่าจะมีการตอบโต้จากทางการจีนอย่างแน่นอน โดยมีความเป็นไปได้ที่จีนจะเน้นไปที่การตอบโต้ในภาคการเงิน และภาคการลงทุนของสหรัฐฯ เช่น วอลล์สตรีท เป็นต้น โดยอาจจะมีการจำกัดการทำธุรกรรมของบริษัทจีนกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ หรืออาจจะถึงขั้นระงับ หรือยุติการให้บริการของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯในจีน และฮ่องกง เพื่อเป็นการตอบโต้
ที่มาข้อมูล : สุวัฒน์ สินสาฎก
ที่มารูปภาพ : TNN

มงคล เกษตรเวทิน