IMF - WTO เตือน ‘ภาษีทรัมป์ ’ ฉุดการค้าติดลบ เศรษฐกิจโลกเสียหาย

WTO ชี้ “ภาษีทรัมป์”กระทบหนัก คาดการค้าโลกติดลบ 1 %


จับตาเศรษฐกิจโลกผันผวน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) และภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (universal tariff) เมื่อวานนี้ ( 2 เมษายน 2568 เวลาสหรัฐฯ )  ซึ่งภาษีศุลกากรตอบโต้จะแตกต่างกันไปเป็นรายประเทศ สูงสุดที่ 49 % และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน 2568  ส่วนภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาลจะอยู่ที่ระดับ 10% เท่ากันทุกประเทศ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เมษายน 2568 


สำหรับการประเมินผลกระทบในแง่การค้าโลก ล่าสุด เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวลา ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) แสดงความกังวลเกี่ยวกับการลดลงของปริมาณการค้าโลก และการเกิดสงครามการค้า หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ต่อประเทศคู่ค้าวานนี้


พร้อมกล่าวว่า มาตรการภาษีของสหรัฐจะส่งผลกระทบอย่างมี “นัยสำคัญ”ต่อการค้าโลก และแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ


WTO คาดการณ์ว่า มาตรการเรียกเก็บภาษีวานนี้ รวมทั้งมาตรการที่สหรัฐบังคับใช้นับตั้งแต่ต้นปีนี้ จะส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกลดลงราว 1% ในปีนี้

IMF - WTO  เตือน ‘ภาษีทรัมป์ ’ ฉุดการค้าติดลบ เศรษฐกิจโลกเสียหาย

สรุปข่าว

สององค์กรสำคัญ ทั้ง IMF และ WTO ต่างออกมาเตือนว่า ‘ภาษีทรัมป์ ’ จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลด จะทำให้การค้าติดลบ เศรษฐกิจโลกเสียหาย

IMF ชี้ “ภาษีทรัมป์“ ทำเศรษฐกิจโลก เสี่ยง เรียกร้องเจรจาสร้างสรรค์


ทุกหน่วยงานต่างออกมาเตือนถึงผลกระทบของการขึ้นภาษีของผู้นำสหรัฐ ฯ รวมไปถึง IMF 


คริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกแถลงการณ์เตือนว่า มาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอ่อนแอลง 


โดยกอร์เกียวากล่าวว่า เจ้าหน้าที่ IMF ยังคงประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจมหภาคที่เกิดจากการใช้มาตรการภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์


“เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องหลีกเลี่ยงขั้นตอนที่อาจสร้างความเสียหายเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจโลก เราขอเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและประเทศคู่ค้าทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขความตึงเครียดทางการค้าและลดความไม่แน่นอน” กอร์เกียวาระบุในแถลงการณ์


ทั้งนี่ที่ผ่านมานั้น IMF ไม่ค่อยออกมาแสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะดังกล่าวนอกเหนือไปจากการประเมินภาวะเศรษฐกิจประจำปีของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสถานการณ์ที่เกี่ยวกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ IMF


กอร์เกียวาออกแถลงการณ์ดังกล่าวในช่วงเย็นวันพฤหัสบดี (3 เมษายน 2568 ) หลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงอย่างหนัก อันเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการภาษีทรัมป์ โดยดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงรุนแรงถึง 1,679.39 จุด หรือ 3.98% และดัชนี S&P500 ดิ่งลง 274.45 จุด หรือ 4.84% โดยดัชนีทั้งสองร่วงลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2563

ที่มาข้อมูล : WTO IMF

ที่มารูปภาพ : Freepik canva

avatar

ทิฆัมพร อยู่กำเหนิด