ทางการจีน สั่งลบเกลี้ยง โพสต์ "อวดรวย" ชี้ลัทธิวัตถุนิยม

 หมดยุค ของคนชอบ "อวดรวย"

ทางการจีนเอาจริงสั่งแบน สั่งลบทุกโพสต์

ไม่ว่าคุณจะดังแค่ไหน คนติดตามเยอะแค่ไหน ก็ต้องหายเข้ากลีบเมฆ

ปิดหมดไม่สนลูกใคร 

เพราะทางการจีนเค้ามองว่าคอนเท้นต์หรือว่าเนื้อหาแบบนี้

แบบนี้เป็นพิษต่อสังคม สร้างค่านิยมผิดๆ 



ปัจจุบันนี้ในโลกออนไลน์ ในโซเชียล จะมีคอนเท้นต์หรือเนื้อหาประเภทหนึ่ง

ที่กำลังได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ คือ "Luxury Lifestyle" 

เป็นการโพสต์ถึงความร่ำรวยของตัวเอง อวดชีวิตที่หรูหรา

มีสินค้าแบรนด์เนมมากมาย หรือมีไลฟ์สไตล์ที่ใช้เงินแบบฟุ่มเฟือย

บางคนก็รวยจริง แต่หลายคนก็แค่คอนเท้นต์ 

หรือรวยไม่จริงแต่ปลอมสร้างขึ้นมา  ทั้งแบบที่คนดูรู้ และไม่รู้

และหลายกรณีก็น่าตกใจ เพราะบางคนรวยจากสิ่งที่ผิดกฎหมาย

รู้อีกทีตอนเป็นข่าวก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง


และสำหรับบ้านเราเมืองไทย ใครจะโพสต์อย่างไรก็ได้ ไม่มีใครห้าม

กฎหมายไม่ว่า แล้วข้อกำหนดของแอพนั้นๆเป็นหลัก

แต่ไม่ใช่สำหรับประเทศจีน


เมื่อปีที่ผ่านมา ทางการจีนได้เดินหน้ากวาดล้าง

คอนเท้นต์อวดรวย ตามสื่อโซเชียลในประเทศ

ข้อมูลจากการรายงานของสำนักพิมพ์เซาท์ไชน่ามอนิ่ง

ระบุว่า ทางการจีนสั่งแบนและปิดบัญชีโซเชียลมีเดีย 

ของคนดังหลายคนในประเทศ

เพราะสร้างคอนเทนท์โอ้อวดความร่ำรวย 


โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและส่งเสริมค่านิยมที่เหมาะสม 

ซึ่งมาตรการนี้ไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะที่ระบุว่า "ห้ามอวดรวย" 

แต่เป็นการควบคุมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ 

เช่น Weibo, Douyin, และ Xiaohongshu 

สามแอพยอดนิยมในจีนแผ่นดินใหญ่ 

และระบุว่าทางการจีนได้ลบโพสต์ที่อวดความมั่งคั่งอย่างไม่เหมาะสมกว่า 60,000 โพสต์ 

ปิดห้องสตรีมสด 1,174 ห้อง และแบนบัญชี 3,609 บัญชี 




สรุปข่าว

หมดยุค ของคนชอบ"อวดรวย" ทางการจีนเอาจริงสั่งแบน สั่งลบทุกโพสต์ ไม่ว่าคุณจะดังแค่ไหน คนติดตามเยอะแค่ไหน ก็ต้องหายเข้ากลีบเมฆ ปิดหมดไม่สนลูกใคร เพราะทางการจีนเค้ามองว่าคอนเท้นต์หรือว่าเนื้อหาแบบนี้ แบบนี้เป็นพิษต่อสังคม สร้างค่านิยมผิดๆ เป็นลัทธิวัตถุนิยม หรือบูชาเงิน และหลายคนก็มีการหลีกเลี่ยงภาษี สร้างปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะการตอกย้ำความเหลื่้อมล้ำในสังคม คนจนหรือคนไม่มีจะโดนดูถูกและกลั่นแกล้งได้ และยังไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะในยุคนี้ประเทศจีนเองก็ยังคงมีเศรษฐกิจที่เปราะบาง ในประเทศก็ยังมีแต่คนตกงาน

หนึ่งในคนดังผู้ทรงอิทธิพลที่คนจีนรู้จักเป็นอย่างดี 

ก็คือ หวัง หงชวนซิ่ง “wanghongquanxing” เจ้าของฉายา “คิม คาร์เดเชียนเมืองจีน” 

อินฟลูเอนเซอร์ชาวจีน ที่มีผู้ติดตามกว่า 4.4 ล้านคน Douyin (TikTok เวอร์ชันของจีน )

คอนเท้นต์ของเค้า คือ ไลฟ์สไตล์แบบ Luxury  

โพสต์ดังที่คนฮือฮามาก คือ ครั้งหนึ่งเขาเคยบอกว่าไม่เคยออกจากบ้าน

โดยที่สวมเสื้อผ้าและเครื่องประดับมูลค่าต่ำกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

หรือราว 47,000 ล้านบาท รวมถึงยังมีบอดี้การ์ดและผู้ช่วยมากถึง 8 คน 

ตามประกบทุกครั้งที่ออกจากบ้าน 


ที่สำคัญ คือ วันนี้ จีนก็เหมือนกับไทยและทั่วโลก

ที่วันนี้โซเชียลมีอิทธิพลต่อความคิดและการใช้ชีวิต

เหมือนกับที่เราซื้อของหรือกินของตามคนในติ้กต้อก

แต่งตัวแต่งหน้าตามแบบคนดัง  

และแม้จะใช้ชีวิตรวยตามคนในเน็ตไม่ได้ 

แต่ทางการจีนนั้นมองว่าเป็นการสร้างค่านิยมผิดๆ

เช่นรวยแล้วดูดี รวยแล้วคนกดไลก์

คนที่ไม่มีก็อาจจะปลอม อาจจะสร้างภาพให้คนมาไลก์

หรือใช้ความรวยไปหลอกลวงคนอื่นได้ 



การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามเนื้อหาที่

รัฐบาลจีนมองว่ามี “คุณค่าเชิงลบ” บนแพลตฟอร์ต่างๆ 

ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆและมีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคม

และมีคนทำตามกันมากขึ้น 

โดยเฉพาะการอวดความมั่งมี ที่จะทำให้คนไปยึดติดกับวัตถุ 

และยังไปสร้างเส้นแบ่งหรือไปกดคนที่ยากจนกว่าได้ 

ข้อมูลจากจดหมายชี้แจงของ Weibo ระบุว่า 

รัฐบาลจีนต้องการการคุมเข้มโซเชียลมีเดียเพราะต้องการสร้างสังคมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน

โดยมีเป้าหมายล้างวัฒนธรรมในโลกอินเทอร์เน็ตให้สะอาด 

แทนที่ผู้ใช้งานจะผลิตเนื้อหาที่โอ้อวดความร่ำรวย 

พวกเขาควรสร้างคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์กว่า

เพื่อ ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมโดยรวม


ขณะที่ Tencent Holdings ซึ่งเป็นเจ้าของ WeChat 

ได้ประกาศว่าทางบริษัทมีการปิดบัญชีที่ “ส่งเสริมลัทธิวัตถุนิยม” และวิถีชีวิตที่ฟุ่มเฟือย 

ไปรวม 6,041 ชิ้น ปิดบัญชีที่ผิดกฎหมาย 36 บัญชี และลบมินิโปรแกรมไป 21 รายการ

โดย Tencent กล่าวว่าจะยังคงปราบปรามพฤติกรรมที่ไม่ดีทุกประเภทต่อไป 

รวมไปถึงพฤติกรรมที่อวดร่ำรวย 

เนื้อหาที่ “เลือกปฏิบัติและล้อเลียนผู้ที่ไม่ร่ำรวย” 

ตลอดจน “การสร้างบุคลิกภาพปลอมเพื่อหลอกลวงทางการตลาด"


ไม่ใช่แค่อวดรวย ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนก็

กวาดล้างการโชว์กินเกินพอดีเช่นกัน 

 เพราะมองว่าเป็น Food Waste หรือการสิ้นเปลือง 

โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่หลายคนชอบกัน คือ การโชว์กิน 

ตามสไตล์เกาหลีจะเรียกว่าม็อกบัง

ส่วนใหญ่นิยมกินอาหารปริมาณมากกว่าคนปกติ

คนจีนก็มีการทำเนื้อหาแนวนี้เช่นกัน

แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมีการปราบปรามและสอดส่องจากทางการมากขึ้น 



หลังจากทางการจีนได้ออกกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไลฟ์สตรีมมิ่ง เมื่อปี 2565

มีการกำหนดพฤติกรรมต้องห้าม 31 รายการ 

เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับอินฟลูเอ็นเซอร์ทำเนื้อหาออนไลน์ 

เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลในการควบคุมเศรษฐกิจดิจิทัล


โดยหนึ่งใน 31 ข้อห้าม เช่น การอวดความรวย บูชาเงิน และ พฤติกรรมการกินที่มากผิดปกติ 

ซึ่งเป็นไปตามตามประกาศิตของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง 

ที่กำชับให้รัฐบาลคุมเข้มในช่วงที่เศรษฐกิจจีนยังคงซบเซา 

ผู้คนตกงาน ดังนั้นอินฟลูเอนเซอร์และสตรีมเมอร์มืออาชีพจำนวน 15 ล้าน 8 แสนคนในประเทศ

จึงไม่ควรทำคอนเทนต์แสดงการกินอาหารอย่างฟุ่มเฟือย หรืออวดร่ำอวดรวย


ทั้งนี้จากการสำรวจโดยคณะกรรมการประจำของสภาประชาชนแห่งชาติ

พบว่า มีอาหารอย่างน้อยหลายล้านตันถูกทิ้งขว้างในร้านอาหารในประเทศจีนทุกปี

และก่อนหน้านี้ในปี 2564 

ทางการจีนได้ประกาศใช้กฎหมายต่อต้านการกินทิ้งกินขว้าง 

ห้ามบล็อกเกอร์เผยแพร่วิดีโอโชว์การกินอาหารแบบเกินพอดี

เพื่อเรียกคนดู โดยมีโทษปรับสูงสุด 1 แสนหยวน


ที่สำคัญ ปัจจุบันนี้จีนยังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจหลายด้าน

โดยเฉพาะวิกฤตว่างงานในวัยรุ่นหนุ่มสาว 

หวัง เสี่ยวผิง (Wang Xiaoping) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมของจีน

 ออกมาพูดในที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า

 ปัจจุบันมีแรงงานจีนกว่า 30 ล้านคนที่หลุดพ้นจากความยากจน

 และยังคงพยายามรักษางานของตนไว้เพื่อไม่ให้กลับไปอยู่ในภาวะยากลำบากอีก


ขณะเดียวกัน จีนก็กำลังเผชิญกับกำลังแรงงานที่เป็นบัณฑิตใหม่เข้าสู่ระบบอีกจำนวน 12.2 ล้านคน

เนื่องจากจบการศึกษาในปีนี้และกำลังแย่งกันหางานอย่างดุเดือด


ส่วนในฝั่งนายจ้าง แม้มีความต้องการแรงงานในหลายภาคส่วน 

แต่ปัญหาการขาดแคลนทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ 

หลายตำแหน่งงานยังคงว่างอยู่ เนื่องจากทักษะของแรงงานไม่สอดคล้องกับสิ่งที่นายจ้างต้องการ


การแบนเนื้อหาของทางการจีนไม่ใช่เรื่องใหม่

แต่เป็นปกติของระบบภายในประเทศจีน 

ที่สามารถดูแลและควบคุมสื่อได้อย่างเด็ดขาด

เหมือนที่เรารู้กันว่าหลายแอพพลิชั่นไม่สามารถใช้งานได้ในประเทศจีน 

แต่สำหรับไทยและหลายประเทศเราโชคดีที่ได้ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย

ได้อย่างเสรีเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีสติ 

แยกแยะเนื้อหาที่ดีและเป็นพิษด้วยตัวเองให้ได้ 

avatar

ทิฆัมพร อยู่กำเหนิด