
จากเหตุการณ์"แผ่นดินไหว" ที่ประเทศเมียนมา และแรงสั่นสะเทือนกระทบมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้ออกมาประเมินผลกระทบในแง่"เศรษฐกิจ" รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม
นายกิตติ พรศิวะกิจ นายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย เปิดเผยว่า จากการประเมินเบื้องต้นเกี่ยวกับผลกระทบของเหตุการณ์คาดการณ์ว่า ในระยะสั้น มีผลกระทบรุนแรง ระยะเวลา 10-14 วัน สูญเสียนักท่องเที่ยว 10-15% จำนวน 1.2-1.5 แสนคน ผลกระทบทางเศรษฐกิจ 5,000-6000 ล้านบาท ในระยะกลาง มีผลกระทบ 2-16 สัปดาห์ สูญเสียนักท่องเที่ยวในไตรมาส 2 รวม 3-4 แสนคน มูลค่า 1.2-1.6 หมื่นล้านบาท
นักท่องเที่ยวที่หายไปส่วนใหญ่เป็น "Short Haul" จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม ที่วางแผนเดินทางมา กทม. และภาคเหนือ ขณะที่กลุ่ม "Long Haul" ที่นิยมท่องเที่ยว ภูเก็ต สมุย กระบี พังงา พัทยา และหัวหิน ยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน พร้อมคาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวจะกลับมา 90-95% ในช่วงสงกรานต์ และกลับมาปกติในไตรมาส 3

สรุปข่าว
ทางด้านผลกระทบต่อโรงแรมที่พัก นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยถึงสถานการณ์การจองโรงแรมภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวว่า ช่วงวันที่ 29-30 มีนาคม 2568 มีการยกเลิกการจองห้องพักทั่วประเทศทั้งหมด 1,100 Booking โดยมองว่าเป็นจำนวนที่ไม่มาก อย่างไรก็ดี ยอดจองห้องพักช่วงสงกรานต์ก่อนหน้าเกิดเหตุแผ่นดินไหวมีจำนวนไม่หวือหวามาตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ คาดการณ์ว่ายอดจองห้องพักทั่วประเทศเดือนเมษายน 2568 นี้ น่าจะใกล้เคียงกับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และใกล้เคียงกับเมษายน 2567 ที่ 65%
"เมื่อ 2 ปีที่แล้วตัวเลขจองห้องพักโดด เนื่องจากก่อนหน้านั้นคนอัดอั้นจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนอยากออกมาเที่ยว แต่มาปีนี้หรือเป็นปีที่ 3 หลังโควิด-19 จะเริ่มสะท้อนภาพเศรษฐกิจ และเริ่มเห็นตัวเลขที่แท้จริงแล้ว" นายเทียนประสิทธิ์ กล่าว
นายเทียนประสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญตอนนี้คือต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั่วโลก และดีที่สุดต้องให้คนไทยออกมาเที่ยว "โครงการเราเที่ยวด้วยกัน" ต้องรีบออกมา รีบใช้ หรือว่าถ้า 1 ล้านสิทธิ์ไม่เพียงพอ จะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านสิทธิ์ก็ได้ ขอให้ออกมากระตุ้น และประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่าเที่ยวไทยปลอดภัย
ทั้งนี้ เข้าใจว่าหลักเกณฑ์ของโครงการฯ ทุกอย่างผ่านหมดแล้ว ติดอยู่ที่วิธีจอง วิธีชำระเงิน หรือแพลตฟอร์ม ซึ่งตนเสนอไปว่า ไม่อยากใช้เว็บไซต์จองโรงแรมออนไลน์ (Online travel agencies: OTAs) เพราะการที่มีตัวกลาง จะเป็นการเพิ่มต้นทุนภาครัฐ และในอดีตโครงการลักษณะนี้ไม่ได้มีตัวกลาง พร้อมยอมรับว่าภาพรวมท่องเที่ยวในปีนี้ มองว่าถ้าได้เท่าปีที่แล้วพอใจ เพราะมีแต่ปัจจัยลบทั้งนั้น
นายเทียนประสิทธิ์ กล่าวถึงประเด็นเรื่องโรงแรมนอกระบบว่า จำนวนทั้งประเทศคาดว่าน่าจะมากกว่าโรงแรมในระบบถึง 4-5 เท่า โดยปัจจุบันโรงแรมที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ที่ออกโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีทั้งหมด 16,000 โรงแรม แต่ใน OTAs มีผู้ประกอบการโรงแรมถึง 70,000-80,000 แห่ง
ทั้งนี้ การที่รัฐอยากดึงโรงแรมนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบนั้น จำเป็นต้องรู้สาเหตุที่แท้จริงก่อนว่า ทำไมโรงแรมเหล่านั้นถึงไม่ยอมเข้าระบบ โดยมองว่าหลัก ๆ มาจาก 2 เหตุผล คือ
1. ผ่านกฎเกณฑ์ทุกอย่าง แต่ไม่ยอมเสียภาษี ค่าธรรมเนียม ซึ่งในส่วนนี้มองว่าปัจจุบันน่าจะมีจำนวนน้อยลง
2. คำจำกัดความของพ.ร.บ.โรงแรม คือโรงแรมขายรายวันได้เท่านั้น ซึ่งกฎหมายควบคุมอาคารก่อนหน้าที่จะจดใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม คือโรงแรมเป็นอาคารเพื่อสาธารณะ จึงเป็นอาคารควบคุม ทั้งทางหนีไฟ การดับเพลิง เป็นต้น ดังนั้น ต้องนำอาคารไปเปลี่ยนการใช้ หรือถ้าสร้างใหม่ต้องสร้างตามเกณฑ์ของโรงแรม และเมื่อได้ใบอนุญาตแล้วจึงจะมาจดใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ซึ่งมองว่าโรงแรมนอกระบบน่าจะมีเหตุผลนี้เป็นหลัก
"กฎหมายไม่ได้ห้ามเข้าระบบ และไม่เคยกำหนดขนาดของโรงแรม ขั้นต่ำสุดคือโรงแรมประเภท 1 ไม่เกิน 50 ห้อง ดังนั้น โรงแรมนอกระบบที่ส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็ก ก็สามารถจดใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ประเด็นที่หลายคนเข้าไม่ได้เพราะดัดแปลงอาคารผิดกฎหมาย ซึ่งไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ มีกฎหมายที่อยู่เหนือกฎหมายควบคุมอาคาร คือผังเมือง และกฎกระทรวงสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ถ้าภาครัฐอยากเชิญชวนให้โรงแรมนอกระบบเข้าระบบ ก็ต้องดู 2 ประเด็นนี้ด้วย ว่าชวนได้แค่ไหน หรือหย่อนได้แค่ไหน ซึ่งจะปลดล็อกไปได้เยอะ" นายเทียนประสิทธิ์ กล่าว
นายเทียนประสิทธิ์ กล่าวว่า ในเรื่องของเหตุผลของโรงแรมนอกระบบที่ไม่อยากเสียภาษี ล่าสุดจะมีโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว "ไทยเที่ยวไทยคนละครึ่ง" ซึ่งมองว่า ควรที่จะให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วม มีใบอนุญาตโรงแรม แต่ภาครัฐบอกว่า ขอเพียงให้มีใบเสียภาษีเท่านั้น
"ถามว่าถ้ารัฐแข็ง คนพวกนี้เขาก็รู้ว่า เดี๋ยวนี้ภาครัฐช่วยบ่อย ปีละครั้ง ดังนั้น ถ้าไม่มีใบอนุญาตโรงแรม ก็ไม่ควรได้ แต่ตอนนี้เหมือนการโอ๋เด็ก อย่างการดัดแปลงอาคารผิดกฎหมายต้องระงับใช้อาคารด้วยซ้ำ มองว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน นอกเหนือจากประหยัดพลังงาน Green แล้ว เรื่องความปลอดภัยมาอันดับ 1 เช่นเดียวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาที่ตึกถล่ม" นายเทียนประสิทธิ์ กล่าว
ที่มาข้อมูล : สมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย สมาคมโรงแรมไทย
ที่มารูปภาพ : Freepik canva

ทิฆัมพร อยู่กำเหนิด