สำหรับนักลงทุนที่ใช้การวิเคราะห์งบการเงิน หรือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสิ่งหนึ่งที่เราห้ามมองข้ามโดยเด็ดขาดก่อนที่จะทำการวิเคราะห์งบการเงิน หรือผลประกอบการ นั่นก็คือ “รายงานผู้สอบบัญชี” ซึ่งรายงานของผู้สอบบัญชีมีความสำคัญอย่างไร สามารถบอกอะไรเราได้บ้าง
สรุปข่าว
รายงานของผู้สอบบัญชี คือรายงานความคิดเห็นต่องบการเงินที่ผู้สอบบัญชีได้ทำการตรวจสอบว่างบการเงินนั้น ได้แสดงถึงฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดโดยถูกต้อง รวมถึงได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่ เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินเกิดความมั่นใจในการนำงบการเงินนั้นไปใช้ในการตัดสินใจลงทุน
โดยรูปแบบของรายงานผู้สอบบัญชี มีอยู่ 4 ลักษณะ คือ “ไม่มีเงื่อนไข” “มีเงื่อนไข” “ไม่แสดงความเห็น” และ “ไม่ถูกต้อง” ซึ่งในแต่ละแบบนั้นสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
รานงานของผู้สอบบัญชีแบบ “ไม่มีเงื่อนไข” หมายความว่า ผู้สอบบัญชีไม่พบสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปในการจัดทำรายงานงบการเงินโดยผู้บริหารของบริษัท ซึ่งถือว่าเป็นรายงานการสอบบัญชีที่สมบูรณ์ที่สุด
รายงานของผู้สอบบัญชีแบบ “มีเงื่อนไข” หมายความว่า ผู้สอบบัญชีพบว่ามีความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการรับรู้รายการที่เกิดขึ้น หรือการกำหนดมูลค่าของสินทรัพย์ หรือหนี้สิน หรือการที่บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีที่ใช้ ผู้สอบจะรายงานปัญหาเหล่านี้ต่อคณะกรรมการ และผู้ถือหุ้นของบริษัท แต่จะไม่เสนอแนะวิธีแก้ไขใด ๆ
ในขณะที่รายงานของผู้สอบบัญชีแบบมีเงื่อนไขนั้น เกิดขึ้นจากสาระสำคัญมากจนผู้สอบบัญชีไม่สามารถให้ความเห็นต่อความถูกต้องตามที่ควรของงบการเงินทั้งหมด รายงานความเห็นของผู้สอบบัญชีอาจเป็นแบบ “ไม่แสดงความเห็น” ต่องบการเงิน หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบนั้น “ไม่ถูกต้อง”
โดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้สามารถดำรงสภาพความเป็นบริษัทจดทะเบียนได้ต่อไป บริษัทจะต้องส่งงบการเงินแบบ “ไม่มีเงื่อนไข” หรือในกรณีที่มีเงื่อนไข ก็ต้องเป็นเงื่อนไขที่ไม่มีสาระสำคัญต่อความน่าเชื่อถือของงบการเงินให้แก่ผู้ถือหุ้น
โดยในการตรวจสอบบัญชีนั้น หากผู้สอบบัญชีละเลยไม่ปฏิบัติการตรวจสอบด้วยความรอบคอบ สำนักสอบบัญชีนั้นอาจจะถูกฟ้องร้องได้ เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการบริษัทที่จำเป็นจะต้องมีความรับผิดชอบต่องบการเงินที่นำเสนอต่อผู้ถือหุ้น หรือบุคคลภายนอก ถ้าทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิด หรือมีความไม่ถูกต้อง คณะกรรมการอาจจะถูกฟ้องร้องซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อบริษัทอย่างมากอีกด้วย
ที่มาข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย/สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ที่มารูปภาพ : Canva