"ดร.นิเวศน์" สอนเลือกหุ้น ตั้งรับวิกฤต

"ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" ต้นแบบนักลงทุนหุ้นคุณค่า ได้แสดงความเห็นผ่านเว็บบอร์ดสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) โดยระบุว่าจบ 2 เดือนของปี 2568 ดัชนีตลาดหุ้นไทยไหลลงมาอยู่ที่ 1,204 จุดหรือตกลงไปประมาณร้อยละ 14 แล้วตั้งแต่ต้นปี จนกลายเป็นตลาดหุ้นที่ “แย่ที่สุดในโลก” โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือเราเห็นราคาของหุ้นจำนวนมาก รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่ที่สุดของตลาด ตกลงมาแรงมาก บางตัวเข้าขั้นระดับหายนะแบบ “คอร์เนอร์แตก” ก็มี

และการตกลงมาของหุ้นนั้น ก็ดูเหมือนจะไม่เลือกว่าเป็นหุ้นแบบไหน และบางทีก็ไม่รู้ว่ามาจากสาเหตุใดชัดเจน ตัวอย่างเช่น เรื่องของผลประกอบการ ซึ่งแน่นอนว่าหุ้นที่ผลประกอบการตกต่ำลงมาก ราคาก็มักจะ “ถล่ม” ทันที แต่รอบนี้ หุ้นบางตัวที่มีผลประกอบการที่ดี แต่หุ้นก็ยังตกลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งนั่น ถือเป็น “ความจริงที่โหดร้าย” สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนโดยอิงกับพื้นฐานของกิจการ รวมถึงเหล่า VI ที่ประเมินและคาดการณ์ผลการดำเนินการของบริษัท

"ดร.นิเวศน์" ตั้งข้อสังเกตุต่อว่า อาการของการที่หุ้นมีข่าวดี ไม่ว่าจะเป็นการประกาศผลประกอบการที่ดีหรือมีเรื่องราวดีดี หรือแม้แต่ข่าวในภาพใหญ่เช่น การประกาศลดดอกเบี้ยอ้างอิง แล้วตลาดหุ้นโดยรวมกลับตกลงไปนั้น ทำให้นักลงทุนจำนวนมาก รู้สึก “เจ็บปวด” และ “สิ้นหวัง” เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะทำให้หุ้นขึ้นได้ ถ้าไม่ใช่ผลประกอบการหรือข่าวดีของเศรษฐกิจที่จะทำให้บริษัทดีขึ้นไปในอนาคต ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงมีคำถามในใจว่า “รออะไรอยู่?” หรือ “หวังอะไร?” จากการถือหุ้นลงทุน หรือควรจะขายหุ้นหรือซื้อหุ้นในช่วงแห่งความโหดร้ายหรือสิ้นหวังนี้ 

สรุปข่าว

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงต่อเป็นสัปดาห์ที่ 5 และร่วงลงหลุดแนวรับสำคัญที่ 1,200 จุด ไปแตะจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปีที่ 1,186.36 จุด หลายคนมีคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นไทย และถ้าจะตั้งรับรอบนี้ ควรเลือกหุ้นแบบไหนจึงจะปลอดภัย ในยามที่เข้าขั้นวิกฤตแบบนี้ เรามีความเห็นจาก "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" ต้นแบบนักลงทุนหุ้นคุณค่ามาให้ติดตาม

แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนั้น "ดร.นิเวศน์" ได้อธิบายถึงสาเหตุของราคาหุ้นที่ร่วงลงรอบนี้ไว้ในหลายประเด็น ประเด็นแรกก็คือ นโยบายรัฐที่มีการประกาศออกมา หรือที่คาดว่าจะมีมาตรการส่งเสริมตลาดหุ้นออกมานั้น แทบจะไม่ได้มีผลต่อตลาดหุ้น อุตสาหกรรมหรือตัวหุ้นเลย แม้บ่อยครั้งที่ตลาดหุ้นมักจะปรับตัวขึ้นพอสมควร เพราะนักลงทุน “มีความหวัง” ว่าโครงการจะแก้ปัญหาที่ทำให้หุ้นตกต่ำได้ แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันหรือแค่เดือนสองเดือน ตลาดก็มักจะตกลงไปที่เดิมหรือต่ำกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น การตั้งกองทุนวายุภักดิ์เพื่อให้เข้ามาซื้อหุ้นเพื่อพยุงราคา เป็นต้น

ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่นักธุรกิจและนักลงทุนเรียกร้องกันมากนั้น เคยทำมาแล้วเมื่อหลายเดือนก่อนและที่เพิ่งจะประกาศลดอีกครั้งเมื่อไม่กี่วันมานี้ ก็ดูเหมือนว่าแทบไม่มีผลต่อราคาหรือดัชนีหุ้นเลยเช่นกัน

ส่วนการประกาศกำไรรายไตรมาสหรือรายปีของบริษัทจดทะเบียนที่ดีหรือเลวร้ายนั้น แน่นอนว่าต้องมีผลต่อราคาหุ้นในทางทฤษฎี แต่ในช่วงแห่งการ “เปลี่ยนผ่าน” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตัวเลขและอัตราการเติบโตของกำไรอาจจะไม่มีความหมาย อย่างเช่น ต่อให้มีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 แต่ถ้าค่า PE ของหุ้นยังสูงลิ่วระดับเกิน 50-60 เท่าขึ้นไป หุ้นก็ตก เพราะนักลงทุนอาจจะมองว่าอนาคตกำไรคงจะเติบโตช้าลง จากอานิสงค์การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกหรือเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ค่า PE ที่สูงในระดับนั้นก็จะต้องลดลง ซึ่งสิ่งที่ตามมานั่นก็คือ ราคาหุ้นจะต้องตกลงมา แม้กำไรจะเพิ่มขึ้นก็ต้านไม่อยู่

ประเด็นสุดท้ายที่จะพูดถึงก็คือ เรื่องความหวังว่านักลงทุนต่างประเทศ จะนำเงินกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย หลังจากที่ขายสุทธิติดต่อกันมานับ 10 ปีเป็นเงินกว่าล้านล้านบาท โดยนักวิเคราะห์ไปพูดถึงประเด็นที่ว่า นักลงทุนสถาบันใหญ่ ๆ ของโลกที่ได้กำไรจากตลาดหุ้นสหรัฐ น่าจะโยกเงินมาตลาดหุ้นเกิดใหม่รวมถึงไทย ซึ่งก็จะทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น แต่ในความเป็นจริง แม้บางวันนักลงทุนต่างชาติ จะเข้ามาซื้อสุทธิจำนวนมาก แต่กลับพบการขายออกไปในปริมาณที่มากกว่า ดังนั้น "ดร.นิเวศน์" จึงย้ำว่า "อย่าไปหวังอะไรจากนักลงทุนต่างชาติที่เขาน่าจะยังไม่เห็นว่าจะมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วยเหตุผลใด" 

มาถึงประเด็นที่ว่า "แล้วตกลง นักลงทุนจะเลือกลงทุนในหุ้นแบบไหนและตัวไหน?

"ดร.นิเวศน์" ตอบคำถามนี้่ว่า คงจะใช้ “Rule of Thumb” หรือ “กฎหัวแม่มือ” มาตอบ ซึ่งสูตรนี้ก็คือ เลือกหุ้นที่มีคุณภาพปานกลาง มีขนาดใหญ่พอและอยู่ในธุรกิจมานาน ไม่ถูกดิสรัปท์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ตัวอย่างเช่น หุ้นแบงก์และสถาบันการเงินทั้งหลาย ถ้ามีค่า PE ปกติไม่เกิน 10 เท่าเศษ ๆ ก็อยู่ในเกณฑ์ลงทุนได้ แต่ถ้าเกินไปในระดับ 15 เท่า ต้องถือว่าแพงมาก และต้องขายทิ้ง โดยไม่ต้องดูว่ากำไรล่าสุดเพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วยซ้ำ

ส่วนหุ้นที่ค่อนข้างดีในด้านของคุณภาพ คือเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่งในระดับหนึ่งในช่วงเวลานี้ เช่น เป็นหมายเลข 1 หรือ 2 ในอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยการตลาดในการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น สินค้าอุปโภคและบริโภคที่ขายให้กับคนทั่วไป แบบนี้ก็ให้ค่า PE ไม่เกิน 15 เท่า ถ้าจะซื้อลงทุน และก็ต้องเป็นค่า PE “ปกติ” ซึ่งนักลงทุนต้องประเมินและอาจจะคำนวณได้ เช่น เอากำไร 5 ปีเฉลี่ยมาใช้ หรืออาจจะใช้ “กำไรต่อยอดขาย” ของอุตสาหกรรมมาคำนวณ ว่ากำไรควรจะเป็นเท่าไร อย่างนี้เป็นต้น

สุดท้ายคือ หุ้นของกิจการที่โดดเด่นมาก มีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน เป็นแนวซุปเปอร์สต็อกที่ชัดเจน คู่แข่ง “แพ้ขาด” ไปแล้วและผู้เล่นใหม่ก็แทบจะเข้ามาแข่งไม่ได้ แบบนี้ก็ให้ค่า PE ไม่เกิน 20 เท่า

"ดร.นิเวศน์" ย้ำว่า คำตอบทั้งหมดนั้น ต้องบอกว่าเป็นเกณฑ์ที่อนุรักษ์นิยม เน้นความปลอดภัยสูง โดยเฉพาะในยามที่โลกปั่นป่วนและวิกฤต อาจจะเกิดขึ้นได้ในเวลาไม่นาน