คลัง-ตลท. ปลุกตลาดหุ้นไทย ดึงสภาพคล่องกลับ

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเพื่อออกแบบมาตรการ และเงื่อนไขภาษีในการจัดตั้งกองทุน Thai ESG กองที่ 2 เพื่อรองรับการโยกเปลี่ยนจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ให้มาอยู่ในกองดังกล่าว โดยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และหยุดการขายของกองทุน LTF ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ฉุดตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา

โดยกองทุนดังกล่าว จะรองรับสำหรับ LTF ที่ครบกำหนดและยังไม่ได้ขาย ซึ่งมีเงินลงทุนรวมกันเหลืออยู่ประมาณ 180,000 ล้านบาท จากหน่วยลงทุน LTF ที่ครบกำหนดขายได้ทั้งสิ้น 240,000 ล้านบาท โดยย้ำว่าไม่ใช่การเปิดขายกองทุนเพื่อรองรับเงินลงทุนใหม่ หรือไม่ได้เปิดจำหน่ายให้กับนักลงทุนทั่วไป

ขณะที่เรื่องของนโยบายลงทุน ยังยืนยันว่าจะเป็นการส่งเสริมการออมในระยะยาวของประชาชนเช่นเดิม ซึ่งขณะนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบ กำลังเร่งพิจารณา และออกแบบรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษี รูปแบบการลงทุน ซึ่งเบื้องต้น กระทรวงการคลังเอง อยากให้เป็นการลงทุนในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่รูปแบบการลงทุน ก็อาจเป็นไปได้ ที่จะแตกต่างกับ Thai ESG กองแรก ซึ่งรายละเอียดทั้งหมด คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้ย และคาดจะดำเนินการได้ ภายในไตรมาส 1 ปีนี้ 

สรุปข่าว

กระทรวงการคลังเร่งออกแบบมาตรการและเงื่อนไขภาษีสำหรับกองทุน Thai ESG กองที่ 2 เพื่อรองรับการเปลี่ยนจาก LTF และลดแรงขายที่กระทบตลาดหุ้น โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในไตรมาส 1 ปีนี้ ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังพิจารณาปรับปรุงมาตรการเพื่อเสริมความเชื่อมั่นนักลงทุน คาดว่าจะเริ่มใช้ในไตรมาส 2

ปลัดกระทรวงการคลังระบุว่า ปัจจุบัน มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น แต่การออกมาตรการเพื่อรองรับการเปลี่ยนจาก LTF มาเป็น Thai ESG ก็เพราะกระทรวงการคลัง ไม่อยากเห็นการขายเกิดขึ้นในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเพราะตลาดเองก็ไม่ดีอยู่แล้ว หรือผู้ถือหน่วยเอง ส่วนใหญ่ก็ยังขาดทุนอยู่ประมาณร้อยละ 5-10 อีกทั้งเมื่อตลาดเป็นแบบนี้ หากยิ่งขาย LTF ออกมา ก็จะเป็นการซ้ำเติมตลาดอีกทาง ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเร่งดำเนินการให้มีความชัดเจนโดยเร็วที่สุด เพื่อตั้งกอง Thai ESG กองที่ 2 เข้ามารองรับ

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า สิทธิประโยชน์ในกองทุน Thai ESG อาจจะไม่จูงใจนักลงทุนได้เท่ากับ LTF นั้น ปลัดกระทรวงการคลังมองว่า อยากให้พิจารณาจากข้อมูลและข้อเท็จจริงเป็นหลัก โดยยอดการซื้อ LTF ในแต่ละปีจะอยู่ที่ราว 25,000 - 30,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดการซื้อกองทุน Thai ESG อยู่ที่ราว 27,000 ล้านบาท ถือว่าใกล้เคียงกัน

นอกจากมาตรการที่จะมาหยุดขายกองทุน LTF จากฝั่งกระทรวงการคลังแล้ว ในฝั่งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็ได้แถลงถึงแนวทางการปรับปรุงมาตรการเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสร้างเสถียรภาพให้ตลาดทุนเพิ่มเติมด้วย 

โดยคุณอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีมติทบทวน ปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ ที่บังคับใช้ในปี 2567 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องก่อนประกาศใช้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 3-4 เดือน และเริ่มใช้ในไตรมาส 2 

ส่วนการปรับปรุงในครั้งนี้ สามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 

เริ่มที่การกำกับดูแลการขายชอร์ต ได้ปรับปรุงคุณสมบัติของหลักทรัพย์ที่สามารถขายชอร์ตได้ ให้เป็นหลักทรัพย์เฉพาะในกลุ่ม SET100 จากเดิมที่กำหนดให้เป็นหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET100 และ non-SET100 ที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ใช้เกณฑ์ Uptick เมื่อจำเป็น คือ กรณีปกติสามารถใช้เกณฑ์ Zero-Plus Tick สำหรับการขายชอร์ตได้ เว้นแต่เมื่อหลักทรัพย์ใดมีราคาลดลงถึงระดับที่กำหนด จึงจะต้องขายชอร์ตหลักทรัพย์นั้นด้วยเกณฑ์ Uptick ในวันทำการถัดไป 

ถัดมาเป็นมาตรการการกำกับดูแล High Frequency Trading (HFT) ซึ่งกำหนดให้ผู้ลงทุนที่ขึ้นทะเบียนส่งคำสั่งซื้อขายแบบ High Frequency Trading สามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้เฉพาะหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET100 ทั้งนี้ไม่รวม Market Maker และหลักทรัพย์บางประเภท

นอกจากแก้ไขมาตรการข้างต้นแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังผ่อนคลายมาตรการที่ได้ประกาศใช้เมื่อปี 2567 ซึ่งประกอบด้วย การยกเลิกเกณฑ์กำหนดเวลาขั้นต่ำของคำสั่งซื้อขาย(order)ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time) และเลื่อนการบังคับใช้เกณฑ์การกำหนดกรอบราคาซื้อขายแบบDynamic Price Band เป็นรายหลักทรัพย์ Phase 2 ออกไป

ทั้งนี้ การทบทวนมาตรการดังกล่าว เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นและหวังว่าปริมาณการซื้อขายและสภาพคล่องจะกลับเข้ามา ซึ่งจากข้อมูลสถิติปริมาณการซื้อขายก่อนใช้มาตรการในเดือนมิ.ย. 67 อยู่ที่ 44,000 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 67 ที่มีการประกาศใช้มาตรการลดความผันผวนที่ผิดปกติของหลักทรัพ ย์และมาตรการกำกับพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม พบว่าปริมาณการซื้อขายลดลงเหลือ 32,000 ล้านบาท ก่อนฟื้นตัวช่วงครึ่งเดือนหลัง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการซื้อขายที่ปรับตัวลดลงมีหลายปัจจัยประกอบกัน แต่เชื่อว่าด้วยมาตรการที่ปรับปรุงในครั้งนี้ จะมีความต้องการให้มูลค่าการซื้อขายกลับมาอีกครั้ง

และเพื่อป้องกันการสร้างความสับสน และสร้างความมั่นใจในเชิงนโยบาย ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะคงมาตรการต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมและที่จะมีการปรับปรุงในครั้งนี้ให้มีการใช้อย่างต่อเนื่อง โดยจะทบทวนอีกครั้งในปี 2569

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ : -