
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาจัดตั้งกองทุน Thai ESG ใหม่เพื่อรองรับการเม็ดเงินจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ครบกำหนดแล้วทั้งหมด 2.4 แสนล้านบาท และยังเหลือส่วนที่ไม่ได้ขายออกอีก 1.8 แสนล้านบาท
กองทุนดังกล่าวจะเป็นกองทุนที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับเม็ดเงินจาก LTF ที่ครบกำหนดทั้งหมด ไม่เกิน 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการที่ออกมารองรับและช่วยยืดระยะเวลาการขายในช่วงตลาดขาลง
ทั้งนี้ยังอยู่ในระหว่างการหารือเรื่องรูปแบบการลงทุนและสิทธิประโยชน์ ซึ่งอาจมีลักษณะแตกต่างจากกองทุน Thai ESG ในปัจจุบัน แต่ยังอยากให้เป็นการลงทุนในประเทศ
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ของตลาดทุนไทยปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ขณะที่ปัจจุบันเม็ดเงินลงทุนในกองทุน LTF ครบกำหนดแล้วทั้งหมด ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนมีสิทธิในการขาย แต่ยังมีส่วนหนึ่งที่ชะลอการขาย เนื่องจากขาดทุนเฉลี่ยราว 5-10%
กระทรวงการคลังจึงเตรียมมาตรการและเร่งดำเนินการ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1 หรือเดือนมีนาคม 2568 นี้ ให้มีการโอนเงินลงทุนจาก LTF เข้ามาในกองทุนใหม่ โดยยังคงจุดประสงค์เดิมในการส่งเสริมการออมระยะยาว 5 ปี

สรุปข่าว
สำหรับการลงทุนในกองทุน Thai ESG ที่มีการขายเต็มปีในปีที่ผ่านมา มีปริมาณการซื้อ 2.7 หมื่นล้านบาท สะท้อนให้เห็นความสนใจของนักลงทุนเทียบเท่ากับปริมาณการซื้อ LTF ซึ่งอยู่ที่ 2.5-3 หมื่นล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ กองทุน Thai ESG ใหม่จะจำกัดการลงทุนเฉพาะนักลงทุน LTF เท่านั้น ส่วนผู้ลงทุนใหม่จะไม่สามารถลงทุนในกองทุนนี้ได้ แต่สามารถลงทุนในกองทุน LTF ได้ตามปกติ กระทรวงการคลังมั่นใจว่า การเปลี่ยนแปลงจากกองทุน LTF เป็นกองทุน Thai ESG จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในตลาดและเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวได้
ขณะที่ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปี 2568 นี้ ปลัดกระทรวงการคลัง มั่นใจว่าจะยังเติบโตได้มากกว่า 3% แม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ จากแผนกระตุ้นที่เหมาะสม และการร่วมมือจากทุกภาคส่วน และในขณะนี้กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งการร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงต้องเร่งการลงทุน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) เข้ามาจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ของ BOI ที่ต้องไปดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการลงทุนจริง และการกระตุ้นการเบิกจ่ายเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตตามเป้าหมายที่ 3.5%

ทิฆัมพร อยู่กำเหนิด