
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจทัศนะและพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชน ในวันมาฆบูชาและเทศกาลวาเลนไทน์ในปีนี้ 2568 ประเมินว่า ในช่วงวันมาฆบูชาจะมีเงินสะพัด 2,500 ล้านบาท ขยายตัว 2.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 4 ปี แม้เป็นอัตราที่ไม่ได้สูงกว่าเทศกาลตรุษจีน แต่เริ่มเห็นสัญญาณของการใช้จ่ายเกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่คนไทยยังตั้งใจไปทำบุญตักใบาตร รองลงมาเป็นการเวียนเทียน และไปไหว้พระ โดยบรรยากาศทั่วไปยังใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เฉลี่ยใช้จ่าย 1,590 บาทต่อคน
ขณะที่การใช้จ่ายเทศกาลวันวาเลนไทน์มีปีนี้ตรงกับวันศุกร์พอดี จึงเป็นตัวเร่งให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น คาดว่าจะอยู่ที่ 2,699.65 ล้านบาท หรือเกือบ 2,700 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายเฉพาะซื้อของขวัญสำหรับมอบให้คู่รัก เมื่อจำแนกตามช่วงวัย หรือ Gen (Genenation) พบว่ามีการใช้จ่ายในกลุ่ม Gen X มากสุดเฉลี่ย 1,669 บาทต่อคน ตามด้วย GenY 1,238 บาทต่อคน และGenZ 617 บาทต่อคน เฉลี่ยรวมคนละ 1,200 บาท ธุรกิจที่ได้ประโยชน์ในเทศกาลวาเลนไทน์ 5 อันดับแรก คือ ร้านขายของขวัญและดอกไม้,ร้านอาหารและคาเฟ่,โรงแรมที่พัก,ร้านไวน์และเครื่องดื่ม,ช็อกโกแลตและขนมหวาน

สรุปข่าว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมทั้ง 2 วันสำคัญจะเห็นว่าประชาชนเริ่มมีการใช้จ่ายมากขึ้นแต่ยังระมัดระวัง เนื่องจากสินค้ามีมูลค่าที่สูงขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่กระจายทั่วถึง ยังไม่สะท้อนต่อการใช้จ่ายมากนัก เท่าที่มอง 2 เทศกาลสำคัญ ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นแล้วแต่แบบอ่อนๆ การใช้จ่ายไม่ได้สะพัดมาก แต่สะท้อนว่าคนยังใช้จ่ายมากขึ้น ภาพรวมราคาสินค้าแพง ทำให้การใช้จ่ายขยายตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยตลอดสัปดาห์วันมาฆบูชา และวันวาเลนไทน์ มีมูลค่าการใช้จ่ายประมาณ 5,200 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ(จีดีพี)ได้ประมาณ 0.5-0.9 %
ที่มาข้อมูล : ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ที่มารูปภาพ : Freepik