ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงผลกระทบจากการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐ กับประเทศคู่ค้าหลายประเทศ โดยไทยถูกเพิ่มอัตราภาษีที่ 36% ว่า ทุกประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐ จะถูกคิดภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น 10% ในวันที่ 5 เมษายนนี้ ส่วนประเทศไทยเป็น 1 ใน 60 กว่าประเทศที่ถูกเพิ่มภาษีในอัตราสูงกว่านั้น
โดยในเอกสารทางการของสหรัฐ ระบุไว้ที่ 37% ซึ่งอัตราดังกล่าวจะเริ่มวันที่ 9 เมษายนนี้ อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศในอาเซียนที่ถูกเก็บภาษีในอัตรามากกว่าไทย เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ส่วนจีนที่ถูกภาษีเพิ่มอีก 34% จากเดิมที่อัตราได้ปรับขึ้น 20% อยู่แล้ว ทำให้จีนถูกเก็บภาษีนำเข้าที่ 54%
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาคือ การประเมินคู่แข่งของไทยที่ผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐ ว่าถูกขึ้นภาษีมากกว่าหรือน้อยกว่าไทย เพราะนั่นหมายถึงโอกาสในการแข่งขัน ซึ่งไทยอาจสามารถส่งสินค้าไปทดแทนสินค้าของประเทศอื่น ๆ ที่ถูกตั้งกำแพงภาษีสูงกว่าไทยได้ เพราะปีแรกของการขึ้นภาษี สหรัฐคงไม่สามารถผลิตสินค้าในประเทศมาทดแทนสินค้าได้ทัน ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ต้องนำเข้าอยู่ดี
สรุปข่าว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสหรัฐต้องการให้นานาประเทศเจรจาเพิ่มเติม แลกกับการขอปรับลดอัตราภาษีนำเข้า โดยประเมินว่ามี 3 แนวทางที่ทางสหรัฐต้องการจากไทย คือ 1.อาจขอให้ไทยลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ เช่น ไวน์ เบียร์ เนื้อวัว รถยนต์ รวมถึงสินค้าเกษตรหลายชนิด ซึ่งสินค้าเกษตรมีความสำคัญกับทรัมป์ เนื่องจากเกษตรกรเป็นฐานเสียงหลัก
2.อาจขอให้ไทยเพิ่มโควตานำเข้าสินค้าบางประเภทมากขึ้น เช่น ข้าวโพด และกาแฟ ที่ไทยมีการกำหนดโควตานำเข้า 3.อาจขอให้ไทยลดข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานสุขภาพ เช่น ให้ไทยอนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ ซึ่งไทยกังวลว่ามีสารเร่งเนื้อแดงเกินมาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นกังวล คือท่าทีของธุรกิจต่างชาติที่ต้องการมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีภาคธุรกิจจากต่างประเทศจำนวนมากที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุกจากบีโอไอ และได้รับบัตรส่งเสริมไปแล้วในสองปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้เข้ามาลงทุน เมื่อมีความไม่แน่นอนนี้เกิดขึ้นและไทยถูกขึ้นภาษี 36% บางธุรกิจอาจจะชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์

ชาคร หนูคงใหม่
โจ