"เยอรมนี" เดือด เรียกร้องตอบโต้ทรัมป์ ชี้ภาษีรถยนต์ เป็น “สัญญาณอันตราย”

อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป กำลังเผชิญความเสี่ยงครั้งใหญ่ จากแผนเรียกเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 25 ของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ล่าสุด ทั้งรัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนีและผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ ต่างออกมาวิจารณ์อย่างรุนแรง โดยระบุว่ามาตรการดังกล่าวเป็น “สัญญาณอันตราย” ต่อการค้าเสรี พร้อมเรียกร้องให้ตอบโต้สหรัฐฯ อย่างเด็ดขาด

“โรเบิร์ต ฮาเบ็ค” รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี เรียกร้องให้สหภาพยุโรปตอบโต้การประกาศภาษีของทรัมป์อย่าง “เด็ดขาด” โดยกล่าวว่ามาตรการนี้ เป็น “สัญญาณอันตราย” ที่จะส่งผลเสียต่อทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และการค้าโลกโดยรวม

รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี ยังกล่าวย้ำด้วยว่า การประกาศเก็บภาษีในอัตราที่สูงสำหรับรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์เป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ผลิตรถยนต์เยอรมัน เศรษฐกิจเยอรมัน สหภาพยุโรป และแม้แต่สหรัฐฯ เอง ดังนั้น สิ่งสำคัญในตอนนี้คือสหภาพยุโรปต้องตอบโต้ภาษีเหล่านี้อย่างเด็ดขาด เพื่อแสดงให้เห็นว่าสหภาพยุโรปจะไม่ยอมถอยต่อสหรัฐฯ  

ขณะที่ “ฮิลเดการ์ด มุลเลอร์” ประธานสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งเยอรมนี (VDA) กล่าวว่า “ภาษีเพิ่มเติมของสหรัฐฯ ที่ประกาศเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 25 สำหรับรถยนต์ที่ที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ ถือเป็นสัญญาณอันตรายต่อการค้าเสรีที่ยึดตามกฎเกณฑ์ โดยเธอกล่าวเสริมว่าภาษีดังกล่าว จะสร้างภาระอย่างมากต่อทั้งบริษัทและห่วงโซ่อุปทานระดับโลกของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด และจะส่งผลกระทบในทางลบ โดยเฉพาะต่อผู้บริโภค รวมถึงในอเมริกาเหนือด้วย

ประธานสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งเยอรมนี ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจของการค้าเสรีและเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่ายของความร่วมมือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เปิดการเจรจาทันทีเพื่อบรรลุข้อตกลงทวิภาคี

สรุปข่าว

อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป กำลังเผชิญความเสี่ยงครั้งใหญ่ จากแผนเรียกเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 25 ของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ล่าสุด ทั้งรัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนีและผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ ต่างออกมาวิจารณ์อย่างรุนแรง โดยระบุว่ามาตรการดังกล่าวเป็น “สัญญาณอันตราย” ต่อการค้าเสรี พร้อมเรียกร้องให้ตอบโต้สหรัฐฯ อย่างเด็ดขาด

“ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้” รุดเจรจาสหรัฐฯ ลดผลกระทบภาษี “ทรัมป์” 

“ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้” เป็น 2 ชาติในเอเชียที่ถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก ซึ่งท่าทีของทั้ง 2 ชาติ ก็พร้อมจะตอบโต้มาตรการภาษีรถยนต์ของสหรัฐฯ เช่นกัน แต่จะใช้แนวทางของการเจรจาก่อน เพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด  

"ชิเงรุ อิชิบะ" นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวต่อรัฐสภา ว่าญี่ปุ่นจะไม่ตัดความเป็นไปได้ ที่จะดำเนินมาตรการตอบโต้การเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ร้อยละ 25 ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ โดย "อิชิบะ" ย้ำว่าญี่ปุ่น ต้องพิจารณาการตอบสนองที่เหมาะสม และแน่นอนว่า รัฐบาลจะต้องพิจารณาทุกทางเลือก ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือ ต้องพิจารณาว่าทางไหนเป็นผลดีต่อผลประโยชน์ของชาติมากที่สุด 

"อิชิบะ" ยังเสริมด้วยว่า ปัจจุบัน ญี่ปุ่นคือผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวก็ตามมาด้วยการจ้างงาน ดังนั้น เราต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การปฏิบัติกับทุกประเทศเหมือนกันนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง"

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ ครองสัดส่วนขนาดใหญ่ของการส่งออกโดยรวมของญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯ ในปี 2567 ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็ได้ใช้ความพยายามมาโดยตลอด ที่จะขอยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์ต่อสหรัฐฯ แต่ก็ดูเหมือนว่าความพยายามดังกล่าวจะไม่เป็นผล 

ส่วนความเคลื่อนไหวจากฝั่งเกาหลีใต้ "อัน ดุกกึน" รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมเกาหลีใต้เผยว่า ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของเกาหลีใต้คาดว่าจะเผชิญกับความยากลำบากอย่างมาก เนื่องจากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และรัฐบาลกำลังเตรียมแผนฉุกเฉินรับมือผลกระทบภายในเดือนเม.ย.นี้ นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังเตรียมเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างแข็งขัน เพื่อหาทางลดผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์ของเกาหลีใต้

"เทสลา" รอด ภาษี “ทรัมป์” กระทบน้อย ดันหุ้นราคาพุ่ง


ขณะที่บริษัทผลิตรถยนต์ทั่วโลกกำลังเผชิญแรงกดดันครั้งใหญ่ จากภาษีศุลกากรของ “โดนัลด์ ทรัมป์” แต่พบว่ามีบริษัทแห่งหนึ่ง นั่นก็คือ "เทสลา" ของ “อีลอน มัสก์” ที่อาจจะเจ็บตัวน้อยกว่าผู้ผลิตรายอื่น นั่นเพราะ "เทสลา" มีฐานการผลิตภายในสหรัฐฯ เป็นหลัก

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังสั่นคลอนจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากภาษีนำเข้ารถยนต์ฉบับใหม่ของ "โดนัลด์ ทรัมป์" แต่มีชื่อของบริษัทผลิตรถยนต์รายหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าบริษัทอื่นๆ นั่นคือ "เทสลา" ของ “อีลอน มัสก์” ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในสหรัฐฯ

ซึ่งข่าวดีนี้ได้สะท้อนผ่านราคาหุ้นของบริษัท โดยหุ้น "เทสลา" เป็นหนึ่งในหุ้นยานยนต์ไม่กี่ราย ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในการซื้อขายในสหรัฐฯ ขณะที่นักวิเคราะห์ระบุว่า ห่วงโซ่อุปทานและผลประกอบการทางการเงินของเทสลา อาจไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ครอบคลุมการนำเข้าทั้งรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เข้าสู่สหรัฐฯ เนื่องจากเทสลามีการผลิตภายในประเทศเป็นหลัก แม้จะมีการนำเข้าชิ้นส่วนจากทั่วโลกอยู่บ้าง

ที่มาข้อมูล : รอยเตอร์ส / CNBC

ที่มารูปภาพ : -

avatar

อาทิตย์ คุสิตา