
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันโลกมีความท้าทายมาก ทั้งความมั่นคงทางพลังงาน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งประเด็นอื่นๆ จากปัจจัยดังกล่าวทำให้จากนี้ไปปตท.จะมีการปรับตัว และกลับมาทำเรื่องที่บริษัทถนัด คือ เรื่องพลังงาน เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย และรองรับการเติบโต โดยจะลงทุนระมัดระวังขึ้น ไม่เน้นลงทุนจำนวนมากในเรื่องที่ไม่ถนัดและไม่เชี่ยวชาญ และในส่วนของธุรกิจที่ได้ทดลองทำไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็จะปรับตัวให้ไว โดยอาจจะทยอยตัดขายธุรกิจนั้นๆ ออกไป
ขณะที่ ระยะกลาง ปตท.จะทำศูนย์กลาง ก๊าซธรรมชาติเหลว ( LNG Hub ) เนื่องจากประเทศไทยมีการนำข้า LNG ที่ค่อนขัางมาก และยังมีดีมานด์อยู่ไม่น้อย จึงจะทำเรื่องเทรดดิ้งพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ LNG รวมทั้งบริษัทจะดำเนินการปรับพอร์ตในกลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่น ซึ่งจะหาพันธมิตรที่แข็งแรงและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะมาร่วมลงทุน เพื่อให้แข่งขันได้ดีขึ้น และสู้กับภาวะที่ท้าทายได้มากขึ้น
โดยปตท.ยังถือหุ้นใหญ่ ซึ่งปัจจุบันแผนที่ว่านี้ คือ การหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทำธุกิจในบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP , บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ซึ่งปัจจุบันมีพันธมิตรในต่างประเทศหลายรายสนใจเข้ามาหารืออย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ขอเปิดเผยว่ามีกี่ราย หรือเป็นบริษัทอะไรบ้าง และจะสรุปดีลได้เมื่อไหร่ เพราะบริษัทอยากทำให้รอบคอบที่สุด แต่คาดว่าในปี 2568 นี้จะเห็นความชัดเจนในการร่วมลงทุน
ส่วนในระยะยาว ปตท.จะศึกษาเรื่องโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) และ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization หรือ Corporate Carbon Footprint: CCF) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผานพลังงานสู่อนาคต โดยการลงทุนในธุรกิจพลังงานไฮโดรเจนจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าลงทุนด้านธุรกิจไฮโดรเจนในต่างประเทศ
เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต เน้นไปลงทุนในแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำให้แข่งขันได้ อาทิ ตะวันออกกลาง และอินเดีย เป็นต้น เน้นทำในสเกลใหญ่ เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมหรือทดแทนการใช้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติในอนาคต เพราะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้มีการผสมไฮโดรเจนในเชื้อเพลิงอุตสาหกรรมในสัดส่วนไมต่ำกว่าร้อยละ 5 ภายในปี 2573

สรุปข่าว
และมองว่าปัจจุบันต้นทุนพลังงานไฮโดรเจนยังสูง จึงจะเน้นการเลือกซื้อมาหรือขายไป(เทรดดิ้ง)ในตลาดต่างประเทศก่อน ซึ่งหากกลุ่มบริษัทสามารถจัดหาแหล่งผลิตได้ในต้นทุนที่ถูกก็จะมีการนำเข้ามาในประเทศไทยผ่านรูปแบบแอมโมเนีย เพราะเป็นทางเลือกที่สะดวกต่อการขนส่งและจัดเก็บ รวมถึงอาจต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้าและจัดเก็บ เช่น การลงทุนในระบบท่อส่งหรือถังจัดเก็บอีกด้วย โดยเบื้องต้นการเข้าลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนในต่างประเทศ
โดยกลุ่มปตท.จะลงทุนผ่าน PTTEP เนื่องจากคาดว่าในอนาคตไฮโดรเจนจะสามารถทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติได้ เพราะจะมีบทบาทสำคัญต่อการลดการปล่อยคาร์บอน และช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในระยะยาว เพียงแต่การลงทุนในประเทศไทยยังมีต้นทุนที่สูง ดังนั้น การลงทุนไฮโดรเจนจึงจะเริ่มทำในต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดของแผนธุรกิจ ทัังระยะสั้น กลางและยาว จะดำเนินการเพื่อรักษาการเติบโตและให้สามารถจ่ายปันผลได้ระดับที่ไม่ต่ำกว่าเดิม แม้ปัจจุบันราคาน้ำมันโลกจะต่ำระดับ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล กดดันภาพรวมอุตสาหกรรม
"แผนการลงทุนของกลุ่มปตท. ทั้งใน 3 ระยะ จะเน้นให้ระยะสั้นทำในสิ่งที่มีต้นทุนต่ำลง นั้นหมายความว่า ภาวะการลงทุนน้อยแต่ได้ผลกำไร ได้ผลตอบแทนที่ดี แล้วก็ความเสี่ยงต่ำ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโอปอเรชั่น เอ็กเซอร์เร้นท์ จะมี EBITDA หรือ กำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ได้ที่ระดับ 3 หมื่นล้านบาทใน 3 ปีข้างหน้า และการทำ Synergy ในกลุ่มปตท.จะให้ผลิตภัณฑ์ในประเทศสามารถเพิ่มกำไรปีละ 3,000 ล้านบาท แล้วก็มีเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นด้วย ซึ่งทั้งหมดไม่ลงทุนเยอะ และระยะสั้นจะเน้นลงทุนไม่เยอะ แต่ได้กำไรได้ผลตอบแทนเร็ว และมีความเสี่ยงที่ต่ำ" นายคงกระพัน กล่าว