
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เปิดเผยว่า ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีลูกหนี้ที่ไม่สามารถระบุตัวตน (Anonymous Account) มากกว่า 84 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้คงค้างกว่า 13.6 ล้านล้านบาท จากฐานข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) โดยพบ 5 ประเด็นที่น่าห่วง

สรุปข่าว
1. ภาพรวมคุณภาพหนี้ครัวเรือนตามฐานข้อมูล NCB พบว่า สัดส่วนประชากรไทยที่มีหนี้ในระบบเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 31 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี 2561 เป็นร้อยละ 38 ในปี 2567 สะท้อนถึงจากการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายขึ้น ขณะที่ยอดหนี้สินเฉลี่ยต่อผู้กู้ตลอดทุกช่วงอายุอยู่ที่ 118,000 บาทต่อคน
หรือโดยสรุปคือเกือบร้อยละ 40 ของคนไทยเป็นหนี้ในระบบ โดยมีหนี้เฉลี่ยต่อคนเกิน 1 แสนบาท
2. วัยสร้างครอบครัวถือเป็นกลุ่มที่ก่อหนี้มากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 62 ของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 35-50 ปี ถือเป็นกลุ่มที่แบกหนี้มากที่สุด
3. ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของลูกหนี้มีแนวโน้มลดลง หรือเรียกได้ว่าเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยกลุ่มคนที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงานหรือ First Jobber (อายุ 25-29 ปี) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4.6 ล้านคน แต่กว่าร้อยละ 57 ของคนกลุ่มนี้เริ่มเข้าสู่วงจรหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ในช่วงอายุระหว่าง 20-22 ปี ที่มักเริ่มต้นจากการก่อหนี้มอเตอร์ไซค์และหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นอันดับต้น ๆ ยิ่งกว่านั้น บัญชีลูกหนี้ที่มีหนี้มอเตอร์ไซค์ในกลุ่มอายุนี้กว่าร้อยละ 20-30 ของทั้งหมดเป็นหนี้เสีย
4. ลูกหนี้มักก่อหนี้ส่วนบุคคลไปตลอดชีวิต โดยในระยะหลังพบว่าพฤติกรรมของลูกหนี้หันไปก่อหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อพยุงการบริโภคมากขึ้น โดยหากพิจารณาสัดส่วนจำนวนบัญชีสินเชื่อต่อจำนวนบัญชีทั้งหมดของลูกหนี้ตั้งแต่อายุ 20-80 ปี พบว่า ลูกหนี้ตลอดทุกช่วงอายุมีสัดส่วนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่าร้อยละ 40 ของบัญชีทั้งหมด
5.จากข้อมูล NCB พบว่า ในปี 2567 กว่าร้อยละ 29 ของประชากรที่มีอายุระหว่าง 60-80 ปี หรือ 1 ใน 3 ของประชากรหลังวัยเกษียณยังคงเป็นหนี้ ยิ่งกว่านั้น สัดส่วนหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากบัญชีลูกหนี้ในช่วงอายุ 60-70 ปี ยังค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 14 ของบัญชีหนี้ในระบบ ซึ่งกลุ่มนี้กำลังกลายเป็นปัญหาเรื้อรังจากความสามารถในการหารายได้ในช่วงบั้นปลายชีวิตค่อนข้างต่ำ สวนทางกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่นับวันจะเพิ่มขึ้นตามอายุ
ttb analytics มองว่าประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนไทยที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยทุกช่วงวัยกำลังประสบปัญหา “รายได้โตไม่ทันรายจ่าย” กระทบต่อความสามารถชำระหนี้ ก่อหนี้วนลูป จนกลายเป็นหนี้พอกเรื้อรัง
ฉะนั้นแล้ว การจะแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยอย่างจริงจัง จึงไม่ได้เป็นเพียงการแก้ไขในระดับครัวเรือนเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องลงลึกไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ยังคงเป็นประเด็นเรื้อรังมาจวบจนปัจจุบัน
ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐและสถาบันการเงินพยายามเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนมาโดยตลอด โดยมีแนวทางการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรวบหนี้ (Debt Consolidation) การแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) หรือมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” แต่ท้ายสุดแล้ว การปลูกฝังทัศนคติและวินัยทางการเงินที่ดีตั้งแต่อายุยังน้อย และสร้างแรงจูงใจที่จะก่อหนี้ในระดับที่เหมาะสมกับความสามารถ จะช่วยลดภาระหนี้ของคนไทยได้อย่างยั่งยืน
ที่มาข้อมูล : ttb analytics
ที่มารูปภาพ : TNN 16