นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ถึงความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานในการแก้ปัญหามิจฉาชีพใช้บัญชีม้านิติบุคคลไปหลอกลวงประชาชน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งครอบคลุม 4 ประเด็นสำคัญ คือ
1. การเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กับสมาคมธนาคารไทย โดยเฉพาะข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ที่ส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจสอบนิติบุคคลที่มีผู้ก่อการหรือกรรมการอยู่ในบัญชีรายชื่อ HR 03 ของ ปปง. ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีการกระทำผิดกฎหมายหลอกลวงประชาชน
สรุปข่าว
2. กรมฯ อยู่ระหว่างพัฒนา "ระบบวิเคราะห์พฤติกรรมนิติบุคคล" หรือ Intelligence Business Analytic System (IBAS) เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ ติดตามพฤติกรรมของนิติบุคคล ว่ามีแนวโน้มจะกระทำความผิดหรือไม่
3. การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการออนไลน์มาขึ้นทะเบียนกับกรมฯ เพื่อขอใช้ตราสัญลักษณ์ "DBD Registered" ในการดำเนินธุรกิจ โดยเครื่องหมายนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ว่า ผู้ประกอบการออนไลน์เหล่านี้มีตัวตน สามารถติดตามตรวจสอบได้
4. การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้าใจ และเสริมความรู้กับธนาคาร เรื่องการนำทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ (IP Finance) เนื่องจากนับตั้งแต่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 31 ม.ค.68 มีการรับให้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลักประกัน เป็นสัดส่วนเพียง 0.07% จากมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด 19.33 ล้านล้านบาท ที่สถาบันการเงินรับเป็นหลักประกัน
ทั้งนี้ ประเภททรัพย์ที่สถาบันการเงินรับเป็นหลักประกัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปสิทธิเรียกร้อง เช่น บัญชีเงินฝาก สัญญาซื้อขาย และอยู่ในรูปสังหาริมทรัพย์ เช่น รถยนต์ เป็นต้น โดยกรมฯ เตรียมเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) มาให้ความรู้แก่สถาบันการเงินที่สนใจ เพื่อสร้างความมั่นใจในการรับทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ