
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ “ท่าอากาศยานไทย” หรือ AOT บอกว่าความกังวลของนักลงทุนต่อที่มีต่อ AOT กับ คิงเพาเวอร์ ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานหลัก จากการเลื่อนจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนนั้น ขอชี้แจงว่า สัญญาที่ AOT ทำไว้มี 2 บริษัท ในส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิจำกัด (KPS) ได้เลื่อนขอชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนพื้นที่เชิงพาณิชย์เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 68 ซึ่งทาง KPS ได้เข้ามาจ่ายดอกเบี้ยที่ชำระล่าช้าแล้ว และอีกสัญญาคือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ได้ขยายเวลาเป็นเดือนเมษายน 68
โดยยืนยันว่าการจ่ายที่ล่าช้าของคิงเพาเวอร์ไม่กระทบต่อรายได้ และกำไรของ AOT ไม่ทำให้รายได้ลดลง แต่เปลี่ยนหมวดจากเงินสด มาเป็นลูกหนี้การค้าเท่านั้น และยังมี Minimum Guarantee ของ คิงเพาเวอร์อยู่ 12,000 ล้านบาท/ปี พร้อมให้ความมั่นใจว่าปีนี้ผลงานของ AOT น่าจะดีกว่า ปี 67 จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะไตรมาสแรก นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 ทำให้มั่นใจว่านี้เป้านักท่องเที่ยว 130 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 จากปีก่อนเป็นไปได้

สรุปข่าว
สำหรับแผนการลงทุนนั้น AOT จะเปิดประมูลโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเดือนพฤษภาคมนี้ และเริ่มก่อสร้างได้ภายในปลายปีนี้ โดยใช้เวลาดำเนินโครงการ 3 ปี โดยโครงการนี้ใช้งบลงทุนราว 12,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาช่วยแก้ปัญหาความแออัดของอาคารผู้โดยสาร เพิ่มพื้นที่ของอาคารผู้โดยสารอีกร้อยละ 20 จาก 400,000 ตารางเมตรเป็น 480,000 ตารางเมตร โดยจะเพิ่มพื้นที่เช็คอิน ตรวจค้นและตรวจคนเข้าเมือง ส่งผลให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้ทั้งหมด 80 ล้านคนต่อปี
ส่วนแผนแม่บทขยายโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น จะมีการปรับใหม่ โดยจะมีการรวมพื้นที่ที่เคยวางไว้ในแผนเดิม คือ อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ทางด้านทิศใต้ (south terminal ) และ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 หรือ Satellite 2 เข้าไว้เป็นอาคารเดียวกัน คือ south terminal เพื่อให้เชื่อมต่อถึงกันได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งงบลงทุน south terminal รถไฟฟ้า APM และรันเวย์ที่ 4 ประมาณ 130,000 ล้านบาท
ส่วนโครงการส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตกของอาคารผู้โดยสาร (West Expansion) และส่วน ต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ยังต้องศึกษาอีกรอบ แต่มีแนวโน้มว่าจะยกเลิก เนื่องจากอาคารผู้โดยสารหลักที่ปรับปรุงใหม่ และ โครงการ south terminal ที่อยู่ในแผนการก่อสร้าง ซึ่งน่าจะเพียงพอในการรองรับผู้โดยสารแล้ว โดยคาดว่าจะนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการทำศูนย์ซ่อมเครื่องบิน หรือ MRO และ คาร์โก้ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับ AOT เพิ่มได้
ดร.กีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่กระทรวงคมนาคม จะยกเลิกโอน 3 ท่าอากาศยาน กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ ให้ AOT ดูแล นั้น มองว่า แม้ AOT จะมีศักยภาพในการบริหาร แต่ทั้ง 3 ท่าอากาศยานต้องใช้งบในการปรับปรุงอยู่พอสมควร เพื่อรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่ง ปัจจุบัน AOT มีโครงการที่จะพัฒนาท่าอากาศยานอยู่หลายแห่ง ทั้งสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต ซึ่งล้วนใช้งบลงทุนสูง หากไม่ต้องมาลงทุนปรับปรุง 3 ท่าอากาศยาน จะช่วยลดเม็ดเงินลงทุนภาพรวมลงได้