สงครามการค้า ฉุดจีดีพีเหลือร้อยละ2.8

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น อาจฉุดให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าร้อยละ 2.8 หลังสหรัฐฯ เริ่มดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าที่ขยายวงมากขึ้น อาจกระทบโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก ให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม 

นอกจากนี้ ไทยยังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงจากจีน ทั้งในตลาดส่งออก และในประเทศ และปัญหาการส่งออกที่ขยายตัวไม่ส่งผ่านผลดีไปสู่ภาคการผลิต

ส่วน มาตรการกีดกันทางการค้าที่เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น และเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ อาจส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 68 เติบโตได้น้อยกว่าที่คาด 

โดยเฉพาะด้านการส่งออกสินค้าที่ Krungthai COMPASS คาดว่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงระดับร้อยละ 6 ในครึ่งปีแรก อาจได้รับผลกระทบให้ขยายตัวได้ต่ำ อีกทั้งอาจส่งผลให้ปัญหาการทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศที่มีอยู่เดิม ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ด้านสำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทย เชื่อว่า ทิศทางของเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ แต่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบประมาณรายจ่ายที่ไม่ได้เกิดความล่าช้าเหมือนเช่นปีก่อน การเพิ่มขึ้นของจำนวน และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 


สรุปข่าว

KTB คาดสงครามการค้าขยายวงกว้างฉุด GDP ไทยปี 2568 โตต่ำร้อยละ 2.8 ด้านวิจัย CIMBT ขอดู จีดีพีไตรมาสส 1/68 ก่อนฟันธงแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งปี

ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลจะฉุดรั้งเศรษฐกิจ ได้แก่ การส่งออก จากความไม่แน่นอนของการค้าระหว่างประเทศ หลังสหรัฐฯ โดยการนำของ “โดนัลด์ ทรัมป์” เน้นปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยในทางอ้อม การเก็บภาษีจีนจะกระทบห่วงโซ่การผลิตของไทยที่พึ่งพาวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงขึ้น กระทบขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย และอาจเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบบางประเภท

ขณะเดียวกัน สินค้าไทยอาจถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าเข้มงวดขึ้น ป้องกันจีนเลี่ยงเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ อัตราสูง จึงส่งออกไปสหรัฐฯ โดยผ่านไทยที่ถูกเก็บภาษีต่ำกว่าแทน ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้ วิจัยซีไอเอ็มบีไทย จะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในลำดับต่อไป

ส่วนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 4/2567 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด บ่งชี้ว่า นโยบายการเงินของไทยยังค่อนข้างตึงตัวพอสมควร 

ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะสนับสนุนให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าได้ ทั้งนี้ อาจต้องรอดูในช่วงเดือนพ.ค. (19 พ.ค.) ที่จะมีการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสแรกอีกรอบ

ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : TNN