สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ทำการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทยในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยพบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสองประการ คือ การเปลี่ยนแปลงในด้านประเทศผู้ลงทุนหลัก จากการที่ญี่ปุ่นเคยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุด สู่การเพิ่มบทบาทของจีนและสิงคโปร์ในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงในด้านภาคการผลิต จากการลงทุนที่เน้นภาคอุตสาหกรรมการผลิต สู่การขยายตัวของการลงทุนในภาคบริการ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาโครงสร้างสัดส่วนเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เฉพาะ 5 ประเทศผู้ลงทุนหลักในไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ สหรัฐฯ และฮ่องกง) พบว่า ในช่วงปี 2543 - 2554 เม็ดเงินลงทุนเฉลี่ยของญี่ปุ่นมีสัดส่วนคิดเป็น 61.1% รองลงมาเป็นสัดส่วนเม็ดเงินจากสิงคโปร์ สหรัฐฯ และจีน อยู่ที่ 19.7% 8.9% และ 7.7% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากปี 2554 เป็นต้นมา เม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่องจนปี 2558 ซึ่งเป็นปีแรกที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และภายหลังจากปี 2558 พบว่า สิงคโปร์และจีน มีบทบาทในการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2567 เม็ดเงินลงทุนของจีนและสิงคโปร์อยู่ที่ 49,591 ล้านบาท และ 30,139 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่เม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นอยู่ที่ 12,521 ล้านบาท
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาโครงสร้างเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ในช่วงปี 2555 - 2567 สัดส่วนเงินลงทุนเฉลี่ยของสิงคโปร์และจีนเพิ่มขึ้นเป็น 31.8% และ 31.2% ตามลำดับ ขณะที่สัดส่วนเงินลงทุนเฉลี่ยของญี่ปุ่นอยู่ที่ 25.8%
ส่วนเงินลงทุนเฉลี่ยจากสหรัฐฯ และฮ่องกง มีสัดส่วนอยู่ที่ 6.5% และ 4.6% ตามลำดับ ซึ่งใกล้เคียงกับ 8.9% และ 2.6% ในช่วงปี 2543 - 2554 ที่ผ่านมา
ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคบริการอยู่ที่ 30.0% โดยภาคบริการที่สำคัญ เช่น บริการทางการเงิน การขายส่ง ขายปลีกและอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคเกษตรกรรมอยู่ที่ 0.4%
สรุปข่าว