ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน และนายอลงกรณ์ ฉลาดสุข นักวิจัยนโยบายทรัพยากรมนุษย์ สาถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลวิจัย "รถ EV เขย่าโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ แรงงานรถสันดาปเสี่ยงตกงาน"
ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ทุกรูปแบบตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา จนติดลำดับต้นๆของโลกในฐานะที่เป็นผู้ผลิต และส่งออกรถยนต์นั่งเกินกว่า 1 ล้านคัน ซึ่งส่วนมากแล้วเป็นยานยนต์ประเภทสันดาปภายในเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ก่อให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมตลอดโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 4 แสนคน ในตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (ปี2546-2566)
แต่การขยายตัวอย่างรวดเร็วของรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้ามีความเสี่ยงทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมต้นน้ำ เริ่มตกงาน เนื่องจากชิ้นส่วน เช่น รถไฟฟ้า เหลือเพียง 3-4 พันชิ้น และส่วนหนึ่งมาจากการผลิตและประกอบด้วยระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ทำให้ความต้องการจ้างงานในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนลดลงอย่างมหาศาล
เช่นเดียวกับการประกอบตัวรถไฟฟ้าที่ใช้หุ่นยนต์ และสายการผลิตที่สั้นลง นอกจากนี้รถไฟฟ้าจะใช้บริการปลายน้ำในการซ่อมบำรุงชิ้นส่วนสำคัญ อาทิ แบตเตอรี่ซึ่งมีอายุการใช้งานประมาณ 7 ปี ทำให้ทุกอย่างจะถูกทดแทนด้วยรถคันใหม่เกือบทั้งหมด และรถคันเก่าก็จะกลายเป็นขยะ (ซึ่งจะต้องแก้ปัญหากันต่อไป)
สิ่งที่หายไปคือการซ่อมบำรุงหลัง 7 ปี ตามสถิติที่มีรถเก่าอยู่ในการครอบครองของครัวเรือนประมาณ 25 ล้านคันก็จะค่อยๆ ลดลงไปตามกาลเวลา เพราะถูกแทนที่ด้วยรถไฟฟ้า อาชีพที่อยู่ในศูนย์บริการและอู่ซ่อมบำรุงรถ (ไฟฟ้า) ไม่จำเป็นต้องมีเพราะแบตเตอรี่หมดอายุกลายเป็นเศษเหล็กและขยะอันตราย แรงงานที่เคยมีอาชีพอิสระอู่เล็กอู่น้อยที่ซ่อมบำรุงยานยนต์สันดาป (ทั้งมอเตอร์ไซค์และรถยนต์) ก็จะจ้างแรงงานน้อยลงไปอย่างน่าตกใจในอนาคตอันใกล้
ข้อเสนอแนะในเบื้องต้น คือชะลอการตกงาน และเพิ่มโอกาสในการจ้างงานแรงงานที่เคยทำงานตามห่วงโซ่อุปทานในสายการผลิตยานยนต์สันดาปได้มากขึ้น อาทิ
อาจมีการบังคับใช้กฎหมายให้รถเก่าประมาณ 25 ล้านคันที่มีศักยภาพที่จะออกมาวิ่งบนท้องถนนจะต้องได้รับการต่อทะเบียน ซึ่งจะทำให้รถเหล่านี้ต้องถูกบำรุงรักษา ซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปลอดภัย เนื่องจากรถยนต์สันดาปต้องมีชิ้นส่วนนับหมื่นชิ้นที่มีโอกาสเสีย (ซ่อมศูนย์มีค่าใช้จ่ายที่แพง) ก็จะไปใช้อู่ซ่อมรถยนต์ที่ตอนนี้เริ่มเงียบเหงาให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง
นอกจากนี้ควรรักษาและชะลอการเปลี่ยนหรือลดการจ้างงาน และการสร้างอาชีพใหม่ เช่นหากจะดำเนินการกับรถเก่าอายุเกิน 7 ปี คาดว่ามีประมาณ 4 แสนคน ให้ปรับเปลี่ยนไปเป็นรถไฟฟ้าได้ โดยถ้าตั้งเป้าเอาไว้เพียง 1 แสนคันที่จะปรับไปเป็นรถไฟฟ้าในเวลา 3 ปี ก็น่าจะดูดซับแรงงานสายช่างและซ่อมบำรุงได้ถึง 2 แสนคน กระจายทำงานอยู่ทั่วประเทศ ช่วยดูดซับแรงงานที่มีทักษะยานยนต์แบบเดิม ๆ ได้มาก รวมถึง upskill และ reskill แรงงานที่ต้องออกจากงาน เป็นต้น
สรุปข่าว