
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ในปี 2568 บสย. ยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญและช่วยเหลือให้กลุ่มเปราะบางและเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเตรียมขยายผลิตภัณฑ์และเป้าหมายการให้การค้ำประกันสินเชื่อ
โดยขณะนี้กำลังศึกษาค้ำประกันสินเชื่อลีสซิ่งรถยนต์เพื่อประกอบธุรกิจ ซึ่งแนวคิดเกิดจากหลังได้หอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขอให้หน่วยงานรัฐมีส่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เจอประสบปัญหารายได้และสภาพคล่องจนไม่อาจกระทบต่อการผ่อนรถยนต์
เบื้องต้นได้หารือกับธนาคารที่มีบริษัทลูกให้บริการลีสซิ่งรถยนต์แล้ว 6-8 ราย หลังจากจัดทำรายละเอียดแล้วจะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) บสย.เพื่อพิจารณาและอนุมัติ และลงนามความร่วมมือกับธนาคารทันที
โดยใช้งบประมาณที่เป็นกำไรจากการดำเนินการของ บสย.ส่วนหนึ่ง คาดว่า หลังบอร์ด บสย.เห็นชอบจะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเชื่อว่าได้รับความตอบรับจากทั้งบริษัทให้บริการลีสซิ่ง และค่ายรถยนต์ เป็นการกระตุ้นยอดซื้อรถใหม่ และ ผู้ประกอบการกล้าลงทุนเพิ่ม
ทั้งนี้ บสย.จะค้ำประกันสำหรับผู้มีประวัติดีและยังดำเนินธุรกิจ แต่อาจติดขัดเรื่องสภาพคล่อง ที่ต้องการต้นทุนต่ำจากดอกเบี้ยและระยะผ่อนชำระที่ยาวขึ้น บสย.ไม่ใช่ผู้ให้บริการลีสซิ่ง แต่เราค้ำประกันไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินหนี้ พร้อมกันนี้กำลังเตรียมมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่เจอปัญหาเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้
ทั้งที่ในปัจจุบันพบว่า ยอดหนี้ที่เอสเอ็มอีรายย่อยต้องการต่ำกว่า 100,000 บาท เริ่มเห็นต่ำกว่า 90,000 บาทมากขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้เฉลี่ยจะอยู่ที่ 120,000 บาท สะท้อนถึงการเข้าถึงแหล่งกู้ยาก และบางส่วนต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ จากตัวเลขของสมาพันธุ์เอสเอ็มอี ระบุว่าหนี้นอกระบบสูงขึ้น จากร้อยละ 20 อาจถึงร้อยละ 40 แล้ว
ส่วน ปีนี้มาตรการแก้หนี้ยังสานต่อ "บสย. พร้อมช่วย" หรือมาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว โดยคาดว่าจะมียอดค้ำประกันสินเชื่อทั้งปีถึง 60,000 ล้านบาท จากปี 2567 ที่มียอดค้ำประกันเกิน 53,000 ล้านบาท สูงกว่าที่คาดไว้ สะท้อนถึงความต้องการเข้าถึงสินเชื่อและความต้องการการค้ำประกันสินเชื่อ

สรุปข่าว