นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในฐานะประธานเปิดงาน "ปลุกพลังสินค้าและเศรษฐกิจไทยด้วย MiT" ภายใต้งาน FTI Expo 2025 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) ว่า การผลักดันการใช้สินค้า Made in Thailand (Mit) ของภาครัฐ ถือเป็นเวทีสำคัญในการแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย
ทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการสนับสนุนสินค้าไทย และการใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้น จะช่วยลดการพึ่งพาสินค้านำเข้า สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย
อย่างไรก็ตามเอสเอ็มอี ถือเป็นรากฝอย หรือ รากแก้วของโครงสร้างเศรษฐกิจ ในอดีตเคยมีการลงทุนสูงถึงร้อยละ 30-40 ต่อจีดีพี แต่ปัจจุบันเหลือการลงทุนเพียงร้อยละ 20 ทำให้การลงทุนขาดหายไป
ประกอบกับปัจจุบันไทยเปลี่ยนไม่ทันบริบทโลกทำให้เอสเอ็มอีจำนวนมากประสบปัญหา ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ 1. ทำให้เอสเอ็มอีมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น โดยร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อช่วยกันพัฒนา
2. เอสเอสอีต้องมีความรวดเร็ว และปรับตัวให้สอดคล้องกับโลก
ส่วนการที่ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีเข้ามาประมูลจัดจ้างภาครัฐแค่ร้อยละ 10 หรือมีมูลค่าแค่ 100,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังก็อยากจะเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น เพราะมูลค่าตลาดเอสเอ็มอีในปัจจุบันมีมากถึง 800,000 ล้านบาท
ด้านนางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล รองประธานสภาอุดสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการกำกับหลักเกณฑ์ MiT เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียน Made in Thailand (MIT) แล้วกว่า 5,000 กิจการ ครอบคลุมมากกว่า 60,000 รายการสินค้า
โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับการรับรองมากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์งานก่อสร้าง ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เครื่องปรับอากาศ และปูนซีเมนต์
ส่วนหน่วยงานรัฐที่มีสัดส่วนการจัดซื้อสินค้า MIT ด้วยวิธี อีบิดดิ้ง (ebidding) มากที่สุด ได้แก่ 1.กรมชลประทาน 2.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 3.การไฟฟ้านครหลวง 4.การประปานครหลวง 5.กองทัพบก เป็นต้น
สรุปข่าว