กสิกรชี้ยอดปิดโรงงานพุ่ง 100 แห่ง/ เดือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์การเปิด-ปิดตัวของโรงงาน ว่า ในปี 2568 คาดว่า โรงงานยังเสี่ยงจะปิดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) เป็นผลมาจากหลายปัจจัยกดดัน ทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภคยังเปราะบางจากค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

รวมทั้งผลของสงครามการค้ารอบใหม่ที่อาจส่งผลต่อต้นทุนและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมถึงแรงกดดันจากสินค้านำเข้าที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น 

ทั้งนี้ สะท้อนจาก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังให้ภาพที่หดตัวติดต่อกัน โดยในไตรมาส 4/2567 หดตัวร้อยละ 2.0  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวติดต่อกันถึง 9 ไตรมาสหรือกว่า 2 ปีแล้ว ขณะที่ การพลิกฟื้นความสามารถในการแข่งขันจะต้องอาศัยการปรับโครงสร้างในภาคการผลิต ซึ่งทำได้ไม่ง่าย

ส่วนสถานการณ์การเปิด-ปิดโรงงานในปี 2567 พบว่า แม้ภาพรวมการเปิดโรงงานจะมากกว่าการปิดโรงงาน แต่จำนวนโรงงานที่ปิดตัวเฉลี่ยยังคงมากกว่า 100 แห่งต่อเดือน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สถานการณ์โดยรวมจึงยังเป็นภาพที่ไม่ดีต่อเนื่อง 

เห็นได้จากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2566-2567) โรงงานเปิดใหม่หักลบด้วยโรงงานปิดตัว เฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 52 แห่งต่อเดือน จาก 127 แห่งต่อเดือนในช่วงปี 2564-2565

ขณะที่ประเภทของโรงงานที่ปิดตัวลงมากในปี 2567 ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาโครงสร้างการผลิต และเผชิญความต้องการที่ลดลง รวมถึงแข่งขันรุนแรงทั้งจากคู่แข่งและสินค้านำเข้า ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า ยานยนต์ และเหล็ก ที่เห็นภาพการปิดตัวของโรงงานทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ สอดคล้องกับดัชนีการผลิตในกลุ่มเหล่านี้ที่มีทิศทางลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีฐาน 


สรุปข่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์เปิด-ปิดโรงงาน ในปี 2568 ยังคงมีความเสี่ยงปิดตัวต่อเนื่อง จับตาเศรษฐกิจ สงครามการค้า

ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : TNN