นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบต่อประเทศไทยจากมาตรการทรัมป์ 2.0 ได้ เพราะล่าสุดไทยยังไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สหรัฐอเมริกาประกาศจะขึ้นภาษี
นอกจากนี้ หากวิเคราะห์เจาะลึกมาตรการทรัมป์ 2.0 หรือมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าที่ผ่านมา จะเห็นว่าทรัมป์ใช้มาตรการนี้เพื่อวัตถุประสงค์ 2 อย่าง
คือ 1. ใช้เป็นมาตรการในการเจรจาต่อรองเพื่อให้ประเทศต่างๆ แก้ปัญหาภายในให้สหรัฐ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องผู้อพยพ และปัญหายาเสพติด
ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีโคลัมเบียร้อยละ 25 เพื่อต่อรองเรื่องให้ซื้อเครื่องบินเมื่อดีลสำเร็จสหรัฐฯ ก็ยกเลิกขึ้นภาษีโคลัมเบีย
ขณะที่ แคนาดา เม็กซิโก ถูกประกาศขึ้นภาษีเพียงวันเดียว สหรัฐฯ ก็ประกาศผ่อนผันออกไปให้อีก 1 เดือน หลังจาก 2 ประเทศตกลงจะเร่งแก้ปัญหายาเสพติด และผู้อพยพ
2. ใช้เพื่อทำสงครามการค้า แก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า จะเห็นว่ามีเพียงจีนประเทศเดียวที่สหรัฐฯ ประกาศทำสงครามการค้า โดยใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนร้อยละ 10 เป็นการใช้มาตรการขึ้นภาษีเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการยื่นข้อเสนอเพื่อเจรจาต่อรองเรื่องอื่นๆ
แต่จะสังเกตุเห็นว่า อัตราที่ขึ้นยังต่ำกว่าร้อยละ 65 ตามที่ทรัมป์เคยหาเสียงไว้ ขณะที่จีนเองก็ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ รวมทั้งฟ้องร้องสหรัฐฯ ต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO ถือว่าเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบ
ส่วนกรณีที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 4-8 ก.พ.2568 เพื่อเจรจาลอบบี้ และทำความเข้าใจกับหน่วยงานรัฐบาล และภาคเอกชนของก่อนที่ไทยอาจจะถูกขึ้นหรือไม่ขึ้นภาษีนั้น ถือว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้ว เชื่อว่าจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับไทยได้มาก
โดยไทยจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าสหรัฐฯ จะประกาศปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้ากับจีนอีกหรือไม่ ซึ่งหากจีนถูกกระทบหนักขึ้นไทยก็อาจจะได้อานิสงส์จากการส่งออกสินค้าไปทดแทนจีนในตลาดสหรัฐ
สรุปข่าว