ผู้สื่อข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต กำลังอยู่ระหว่างการยกร่างแก้ไขเงื่อนไขทางภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ไฟฟ้าประเภทปลั๊กอินไฮบริด (PHEV)
โดยเงื่อนไขสำคัญจะปรับปรุง คือ ระยะทางวิ่งต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง หรือ Electric Range ( ER) ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 80 กิโลเมตรหรือสูงกว่า 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และขนาดของถังน้ำมันปัจจุบันกำหนดขนาดถังน้ำมันไว้ไม่เกิน 45 ลิตร หากเข้าตามเงื่อนไขนี้จะได้รับอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 5
กรณีระยะทางวิ่งต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ทำได้น้อยกว่า 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ขนาดของถังน้ำมันมากกว่า 45 ลิตร จะจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 10
ทั้งนี้ การปรับปรุงเงื่อนไข ดังกล่าวจะเอื้อให้ค่ายรถยนต์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า PHEV ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น กรณีขนาดของถังน้ำมัน บางรถ PHEV มีขนาดของถังน้ำมันขนาดใหญ่กว่า 45 ลิตร
เนื่องจากตัวบอดี้รถยนต์ใหญ่ ทำให้ต้องเสียภาษีอัตราร้อยละ 10 การปรับปรุงเงื่อนไขดังกล่าว จะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลต้องการผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
เนื่องจาก รถไฟฟ้า PHEV สามารถใช้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าได้ จะช่วยเปลี่ยนผ่านจากการใช้รถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้นในอนาคต เพราะปัจจุบันระบบนิเวศของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ของไทยยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ โดยเฉพาะจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้ายังมีไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ
ขณะเดียวกันยังมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาฐานการผลิตรถยนต์สันดาปที่พัฒนามาอย่างยาวนานในประเทศไทย
และให้ผู้ผลิตรถยนต์มีระยะเวลา การเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายใน ไปสู่รถยนต์ใช้พลังงานประเภทอื่นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานไฟฟ้า หรือไฮโดรเจนในอนาคต เป็นต้น
ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีทั้งสิ้น 227,470 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 72.52 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง
สรุปข่าว